![](https://media.kaohoon.com/wp-content/uploads/2024/03/CL_2022_investors.jpg)
ส่องธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในไทย
มีรายงานบทวิเคราะห์ดี ๆ เรื่อง “แนวโน้มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในไทย” โดยคุณรินรดา อัมพรสิทธิกูล นักวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
เส้นทางนักลงทุน
มีรายงานบทวิเคราะห์ดี ๆ เรื่อง “แนวโน้มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในไทย” โดยคุณรินรดา อัมพรสิทธิกูล นักวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ซึ่งมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ ระบุว่า ในปี 2568 โรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งจากการขายให้ภาครัฐและเอกชน รวมทั้งอัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มเติบโต สำหรับธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รายได้ต่อหน่วยในการขายไฟให้ภาครัฐจะขึ้นอยู่กับราคารับซื้อ ซึ่งมีแนวโน้มลดลง ขณะที่รายได้รวมจากการขายไฟให้ภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ในปี 2568 ปริมาณไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ขายให้ภาครัฐจะอยู่ที่ 23,555 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมทางด้านนโยบายภาครัฐ โดยจะมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมรวมเป็นจำนวน 226.9 เมกะวัตต์ (MW) จากปริมาณขายตามสัญญา ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 8 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 3 แห่ง
สำหรับภาคเอกชน ปริมาณการขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะอยู่ที่ 4,177 GWh เติบโตจากกฎระเบียบทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนจากยุโรป (CBAM) ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น นอกจากนี้การลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นจากองค์กรเอกชนในโครงการ RE100 ซึ่งรวมถึงธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ก็มีส่วนผลักดันให้การใช้พลังงานสะอาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง ชีวมวลยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลัก ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์เติบโตอย่างรวดเร็ว
นอกเหนือจากนี้จะเป็นไฟฟ้าจากพลังงานลม ขยะ และก๊าซชีวภาพ โดยรวมกันคิดเป็น 22% และ 4% ของไฟฟ้าที่จำหน่ายให้ภาครัฐและเอกชน ตามลำดับ ชีวมวลยังคงถูกใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด เนื่องจากมีความเสถียรและยืดหยุ่นด้านการผลิตมากกว่าเชื้อเพลิงหมุนเวียนประเภทอื่น ๆ รวมถึงยังมีความพร้อมทางด้านวัตถุดิบ เพราะประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตร ขณะเดียวกันพลังงานแสงอาทิตย์ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก ตามเป้าหมายในร่าง AEDP พ.ศ. 2567-2580 ที่ตั้งเป้าให้ 68% ของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในปี 2580 มาจากพลังงานแสงอาทิตย์
ภาพรวมรายได้จากการขายไฟฟ้าได้รับอิทธิพลหลักมาจากไฟฟ้าชีวมวลและแสงอาทิตย์ เนื่องจากเป็นสัดส่วนหลักของไฟฟ้าที่จำหน่ายในตลาดพลังงานหมุนเวียน ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการไฟฟ้าชีวมวล รายได้และอัตรากำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลมีแนวโน้มเติบโต รายได้รวมจากการขายไฟฟ้าชีวมวลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เติบโตทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน คาดเพิ่มขึ้น 1.9% และ 6.5% ตามลำดับ นอกจากนั้นอัตรากำไรขั้นต้นก็มีแนวโน้มขยายตัว จากต้นทุนจะลดลงตามปริมาณเชื้อเพลิงชีวมวลในตลาดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2568 อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมพืชเกษตรจะเพิ่มขึ้นราว 2.6-3.6%
อย่างไรก็ตาม ชานอ้อยซึ่งเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงชีวมวลหลักมักถูกใช้ในโรงไฟฟ้าที่ตั้งโดยบริษัทน้ำตาลเอง ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นต้องใช้วัตถุดิบทางการเกษตร เช่น แกลบและซังข้าวโพดแทน
ธุรกิจไฟฟ้าแสงอาทิตย์สามารถแยกออกได้เป็นโครงการที่ทำสัญญาซื้อขายกับภาครัฐ และโครงการที่ทำสัญญาซื้อขายกับภาคเอกชน โครงการที่ทำสัญญาซื้อขายกับภาครัฐ รายได้จากการขายไฟฟ้าภายในระยะเวลาสัญญาของแต่ละโครงการค่อนข้างจะมั่นคง เนื่องจากเป็นการขายไฟฟ้าเต็มปริมาณที่ผลิตได้ ทำให้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับรายได้ต่อการขายไฟต่อหน่วยคือ ราคารับซื้อตามสัญญาของภาครัฐ ซึ่งมีการปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ 2.16796 บาท/หน่วย ส่งผลให้รายได้ต่อหน่วยจากการขายไฟลดลง อย่างไรก็ตามอัตรากำไรขั้นต้นยังคงอยู่ในระดับสูง คาดจะอยู่ที่ราว 30% สำหรับโครงการที่จะเริ่มดำเนินการซื้อขายในปี 2568
ส่วนรายได้รวมจากการขายไฟฟ้าให้ภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตตามความต้องการ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากถึง 41% เนื่องจากผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง หันมาเลือกใช้บริการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Private PPA มากขึ้น ในขณะเดียวกันต้นทุนของผู้ให้บริการก็มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ตามต้นทุนรวมในการติดตั้ง และ LCOE เฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งคาดลดลง 10% และ 14% ตามลำดับ จากปีที่ผ่านมา
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ลม และก๊าซชีวภาพ รายได้จะมาจากการขายให้ภาครัฐเป็นหลัก ดังนั้นแนวโน้มรายได้จึงขึ้นอยู่กับนโยบายพลังงานและการสนับสนุนจากภาครัฐ
ในปี 2568 รายได้รวมของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขยะมีแนวโน้มเติบโต ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานลมและก๊าซชีวภาพยังไม่มีกำหนดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากภาครัฐ โดยโรงไฟฟ้าขยะมีแผนที่จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบรวม 31.5 MW และมีราคารับซื้อสูงกว่าไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยรัฐบาลจะรับซื้อไฟฟ้าขยะที่ 5.08 บาท/หน่วย พร้อม FiT Premium 0.70 บาท/หน่วย ใน 8 ปีแรก สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 MW และ 3.66 บาท/หน่วย สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิต 10-50 MW
ทั้งนี้ ความเสี่ยงของธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในระยะกลางถึงยาวนั้น ปัจจุบันผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนยังไม่สามารถขายไฟฟ้าตรงให้ผู้ใช้งานผ่านโครงข่ายภาครัฐ โดยรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นเจ้าของโครงข่ายไฟฟ้ายังไม่อนุญาตให้เอกชนเช่าใช้ เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า จึงยังไม่มีการเปิดให้มี Third Party Access (TPA) หรือการอนุญาตให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนหรือผู้ให้บริการพลังงานรายอื่นเข้าถึงและใช้โครงข่ายสายส่งไฟฟ้าของรัฐอย่างเสรี
การแข่งขันกับโครงการไฟฟ้าสีเขียวจากภาครัฐ (UGT) ในตลาดการขายไฟฟ้าให้ภาคเอกชน แม้ว่าการเปิดให้บริการ UGT ในช่วงแรกจะเป็นการขายไฟฟ้าพลังงานน้ำที่มีอยู่เดิมในระบบของการไฟฟ้าฯ เป็นหลัก ทำให้ไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่ในระยะถัดไปจะเริ่มมีการเปิดขายไฟฟ้าชนิดอื่นเพิ่มเติม ทำให้ผลกระทบมีเพิ่มมากขึ้น โดยบริการจากภาครัฐจะมีข้อได้เปรียบในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม และความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าในปริมาณมากได้อย่างมั่นคง ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคเอกชน โดยเฉพาะรายใหญ่ อาจเปลี่ยนมาเลือกใช้บริการ UGT แทนการทำสัญญาซื้อขายแบบ Private PPA ในระยะยาว
การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน หรือ Waste to Energy (WtE) ในปัจจุบันยังไม่ได้รับการบรรจุใน EU Taxonomy (EU, 2024) ในฐานะพลังงานสีเขียว ซึ่งหมายความว่า WtE จะไม่เข้าข่ายมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป ส่งผลให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งสินค้าไปยังยุโรปอาจไม่เลือกใช้ไฟฟ้าจากขยะในฐานะพลังงานสีเขียว เนื่องจากไม่เป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ EU กำหนด
ในปี 2568 แนวโน้มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในไทยยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป!!!!!