BBL รายได้ค่าฟีเติบโตสูง

BBL โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อตามประเภทธุรกิจ ณ สิ้นไตรมาส 4/2567 1.อุตสาหกรรมการผลิตและพาณิชย์ 27.1% 2.สาธารณูปโภคและบริการ 18.6%


คุณค่าบริษัท

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อตามประเภทธุรกิจ ณ สิ้นไตรมาส 4/2567 1.อุตสาหกรรมการผลิตและพาณิชย์ 27.1% 2.สาธารณูปโภคและบริการ 18.6% 3.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 12.3% 4.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 7.8% 5.เกษตรและเหมืองแร่ 3.3% 6.ธุรกิจอื่น ๆ 30.9%

BBL รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2567 มีกำไรสุทธิ 10,404.32 ล้านบาท ขยายตัว 17.39% จากไตรมาส 4/2566 แต่ลดลงเมื่อเทียบไตรมาส 3/2567 ที่มีกำไรสุทธิ 12,476.36 ล้านบาท กำไรสุทธิไตรมาส 4 ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ สาเหตุหลักมาจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบีย (non-NII) ที่สูงกว่าคาด 22% จากกำไรจากการลงทุนทีกำหนดด้วยมูลค่ายุติธรรม (FVTPL) ในไตรมาส 4/2567 จำนวน 2.99 พันล้านบาท ขณะที่กำไรที่ลดลงเมื่อเทียบไตรมาส 3/2567 สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน (Opex) ที่เพิ่มขึ้น 9% จากไตรมาส 3/2567 จากผลกระทบตามฤดูกาล ขณะที่กำไรที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่งจากไตรมาส 4/2566 ได้แรงหนุนจากกำไรจากการลงทุนที่กำหนดด้วยมูลค่ายุติธรรม (FVTPL) เทียบกับที่ขาดทุน 41 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2566 ส่งผลให้กำไรงวดปี 2567 ของ BBL อยู่ที่ 4.52 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% จากปี 2566

รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิยังเติบโตได้ที่ 1.8% จากไตรมาส 3/2567 โดยสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 4/2567 อยู่ที่ 2.69 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2% จากสิ้นไตรมาส 3/2567 และ 1% จากสิ้นไตรมาส 4/2566 จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อระหว่างประเทศของ BBL แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 4/2567 จะปรับลง แต่อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ยังเพิมขึ้นได้เล็กน้อยที่ 0.04% จากไตรมาส 3/2567 มาอยู่ที่ 2.97% จากต้นทุนดอกเบี้ยที่บริหารจัดการได้ดี

NPL ratio อยู่ที่ 3.2% ลดลงจาก 3.9% ในไตรมาส 3/2567 และต่ำกว่าที่บล.กสิกรไทย คาดไว้ 0.80% โดยบล.กสิกรไทย เชื่อว่า NPL ratio ที่ลดลงส่วนใหญ่เกิดจากการชำระหนี้ของลูกหนี้ปรับโครงสร้างดีขึ้น และส่วนหนึ่งจากการปรับหนี้เป็นทุนของการบินไทย ส่วนค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ลดลงเล็กน้อยมาที่ 1.15% จาก 1.22% ขณะที่อัตราส่วนเงินสำรองต่อหนี้สูญ (coverage ratio) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาเป็น 334% จาก 254% ในไตรมาส 3/2567 ซึ่งสูงสุดในกลุ่มธนาคาร โดยบล.กรุงศรี ปรับกำไรสุทธิปี 2568-2569 ขึ้น 6-8% มาอยู่ที่ 4.57 และ 4.68 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ จากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่ต่ำกว่าคาด จากช่วงที่ผ่านมา BBL ตั้งสำรองมาเป็นจำนวนมากเผื่อความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไปแล้ว

ข้อมูลจาก LSEG Consensus สำหรับ BBL ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2568 ที่ 173,002.38 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2568 ที่ 45,616.69 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 172.85 บาท จาก 21 โบรกเกอร์

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดกำไรสุทธิปี 2568 ที่ 45,987 ล้านบาท โต 1.7% จากปี 2567 ความกังวลหลัก ๆ อยู่ที่รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิที่ปรับตัวลง ตามทิศทางการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยคาด NIM จะลดลง 0.12% จากปี 2567 ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อคาดยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เพราะ BBL เน้นฐานลูกหนี้กลุ่มบริษัทใหญ่ที่มีความแข็งแรงทางการเงิน ส่วนการตั้งสำรองเบื้องต้นคาดจะปรับตัวลง โดยคาด Credit Cost ที่ 1.1% ลดลงจาก 1.3% ในปี 2567

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น BBL ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 4 ก.พ. 2568 ที่ 153 บาท) เทรดที่ P/E 6.69 เท่า ต่ำกว่า P/E กลุ่มธนาคารที่ 8.10 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น BBL อยู่ที่ 0.53 เท่า ต่ำกว่า P/BV กลุ่มธนาคารที่ 0.70 เท่า

Back to top button