“กลุ่มกัลฟ์” ฟันกำไรปี 67 แตะ 6.7 หมื่นล้าน “GULF” โตเด่น 22%
4 หุ้นกลุ่ม “กัลฟ์” กวาดกำไรปี 67 เฉียด 6.7 หมื่นล้านบาท โต 16% เทียบกับปีก่อนหน้า GULF เด่นสุดกำไร 1.8 หมื่นล้านบาท โต 22% ส่วน ADVANC กำไร 3.5 หมื่นล้านบาท โต 21% ขณะที่ INTUCH โต 3% แตะ 1.3 หมื่นล้านบาท
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 และงวดปี 67 ของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM โดย
สำหรับ GULF มีกำไรสุทธิปี 67 อยู่ที่ 18,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 14,857 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม (total revenue) อยู่ที่ 124,585 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวของปีก่อนอยู่ที่ 116,951 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงาน (core profit) อยู่ที่ 18,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับงวดเดียวของปีก่อนอยู่ที่ 15,644 ล้านบาท
โดยปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีผลการเงินที่ดีในปี 67 สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD กำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,650 เมกะวัตต์ โดยหน่วยผลิตที่ 3 และ 4 (รวม 1,325 เมกะวัตต์) ได้เปิดดำเนินการในเดือนมีนาคมและตุลาคม 2567 ตามลำดับ ทำให้โรงไฟฟ้ากัลฟ์ ปลวกแดงทั้ง 4 หน่วยได้เปิดดำเนินการตามกำหนดครบถ้วน
นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง (HKP) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,540 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิตที่ 1 ในเดือนมีนาคม 2567 กำลังผลิต 770 เมกะวัตต์ ขณะที่กลุ่มบริษัทฯ ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากกลุ่ม GJP จำนวน 1,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 7 โครงการ ซึ่งมีการปรับเพิ่ม load factor เฉลี่ยจาก 72% ในปี 2566 เป็น 79% ในปีนี้
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) และโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP กลับมีผลกำไรที่ลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการรับรู้ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาและอัตรากำไรที่ลดลงจากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม เนื่องจากราคาค่า Ft ลดลงจาก 0.89 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในปี 2566 เป็น 0.40 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในปี 2567
ด้านธุรกิจก๊าซ กลุ่มบริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการ PTT NGD จำนวน 1,077 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 172% จากปีก่อน โดยมีสาเหตุจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญและราคาน้ำมันเตาที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (INTUCH) จำนวน 6,345 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยได้รับผลจากการปรับตัวดีขึ้นของ ADVANC ซึ่งมี ARPU เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายแพ็กเกจที่มีมูลค่าสูงขึ้น และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน INTUCH รายงานผลประกอบการปี 67 มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 13,472 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.54% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 13,138 ล้านบาท การเติบโตนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งผลกำไรจากการลงทุนในกลุ่มธุรกิจเอไอเอส ซึ่งได้รับผลดีจากการเติบโตของรายได้หลัก รวมถึงการรับรู้ผลประกอบการจากการเข้าซื้อกิจการ TTTBB แม้จะมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
ส่วนแบ่งผลกำไรจากการลงทุนในเอไอเอสเติบโตจากปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้หลักและผลประกอบการที่รับรู้จากการเข้าซื้อกิจการ TTTBB ซึ่งมาพร้อมกับต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทั้งต้นทุนทางการเงินจากการก่อหนี้เพื่อการซื้อกิจการ TTTBB และต้นทุนจากสัญญาเช่าของ 3BBIF
ด้านรายได้จากการขายและบริการ บริษัทฯ รายงานการเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับผลบวกจากการเติบโตในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งรวมถึงรายได้จาก TTTBB ที่รับรู้เต็มปีในปี 2567 และการใช้กลยุทธ์การขายพ่วงบริการเสริมที่มีมูลค่าเพิ่ม ขยายฐานผู้ใช้บริการ และการเพิ่ม ARPU จากการขายแพ็กเกจที่รวมหลายบริการ
รายได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับผลดีจากคุณภาพโครงข่ายที่แข็งแกร่งและการเติบโตของ ARPU จากการขายบริการเสริมที่มีมูลค่าเพิ่ม พร้อมกับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ส่วนของธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรและบริการอื่น ๆ รายได้เพิ่มขึ้นจากการให้บริการการเชื่อมต่อข้อมูล (EDS) และคลาวด์ (Cloud) รวมถึงการรับรู้รายได้จาก TTTBB และรายได้จากสัญญาโรมมิ่งกับ NT
นอกจากนี้ รายได้จากการขายอุปกรณ์และซิมเพิ่มขึ้นจากการขาย Handset ค้าปลีกที่เติบโตขึ้นในปี 2567
ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทฯ ได้ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลประกอบการครึ่งปีแรก พร้อมทั้งเงินปันผลพิเศษที่เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างธุรกิจ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 8.54 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นมูลค่า 27,385 ล้านบาท โดยเงินปันผลพิเศษจำนวน 6.54 บาทต่อหุ้น จะจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นในวันที่ 4 มีนาคม 2568
ขณะที่ ADVANC รายงานผลประกอบการปี 67 มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 35,075 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.59% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไร 29,086.11 ล้านบาท การเติบโตนี้ได้รับแรงหนุนจากรายได้จากธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้น 4.8% อยู่ที่ 123,803 ล้านบาท โดยผลจากการเป็นผู้นำด้านโครงข่ายและการเติบโตของการใช้ข้อมูล ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการกลับมาของผู้ใช้บริการ
โดยการเติบโตที่สำคัญยังมาจากธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 116% เป็น 29,441 ล้านบาท ภายหลังการควบรวม TTTBB ซึ่งทำให้จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นและการปรับปรุง ARPU ได้ผลดี นอกจากนี้ บริษัทได้ประกาศการควบรวม TTTBB เป็นระบบเดียวภายในปี 2569 เพื่อยกระดับบริการให้แก่ลูกค้ากว่า 5 ล้านราย
ส่วนของธุรกิจลูกค้าองค์กร (ไม่รวมโทรศัพท์เคลื่อนที่) รายได้เพิ่มขึ้น 22% สู่ 7,045 ล้านบาทจากการขยายบริการคลาวด์และโซลูชันต่าง ๆ รวมถึงการรับรู้รายได้จากการบริการลูกค้าองค์กรของ TTTBB ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
สำหรับกำไร EBITDA อยู่ที่ 113,243 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% โดยได้รับผลบวกจากการรับรู้รายได้จาก TTTBB และการเติบโตของธุรกิจหลัก ขณะที่อัตรากำไร EBITDA เพิ่มขึ้นจาก 50.0% ในปี 2566 เป็น 53.0% ในปี 2567 การรวม TTTBB ได้สร้าง Synergies ทั้งในแง่ของรายได้และต้นทุน
พร้อมกันนี้ ADVANC เตรียมจ่ายเงินปันผลสำหรับงวดดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคม 2567 ที่อัตราหุ้นละ 5.74 บาท โดยมีกำหนดวัน XD ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 และกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 10 เมษายน 2568
ด้าน THCOM รายงานผลขาดทุนส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในปี 67 จำนวน 23 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นจากปัจจัยชั่วคราวที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2567 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออก รวมถึงบริษัทที่มีรายได้หลักจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัทจะประสบกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน แต่บริษัทได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนดังกล่าว โดยรวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ นอกจากนี้ ในปี 2566 บริษัทได้รับรายได้พิเศษจากการชดเชยในจำนวน 310 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าชดเชยจากข้อพิพาทกับคู่สัญญา
ขณะที่บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการในปี 67 จำนวน 2,413 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 66 ที่มีรายได้ 2,627 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการลดลงของการใช้งานในบางส่วนที่ไม่ได้รับการครอบคลุมจากดาวเทียมดวงใหม่ โดยเฉพาะในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม บริษัทมุ่งมั่นที่จะขยายการให้บริการในภูมิภาคอื่นๆ ที่มีศักยภาพ รวมทั้งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation: USO) ซึ่งเข้าสู่ระยะที่ 3 ของโครงการ
โดยโครงการ USO ระยะที่ 2 จะกลับมาดำเนินการอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2568 และการประมูลสำหรับ USO ระยะที่ 3 จะเกิดขึ้นภายในไตรมาสเดียวกัน ซึ่งจะรวมถึงการให้บริการด้านดาวเทียมในโครงการนี้ด้วย บริษัทได้เตรียมความพร้อมและดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2568 เป็นต้นไป
พร้อมกันนี้ บริษัทในกลุ่ม GULF ได้มีการจ่ายปันผลให้กับนักลงทุน ซึ่งมีรายละเอียดตามตารางด้านล่างนี้