![](https://media.kaohoon.com/wp-content/uploads/2024/05/MTC-SAWAD-TIDLOR_2024-05-07.jpg)
หุ้นไฟแนนซ์” ปิดบวก! รับ “ครม.” เปิดทาง Non-Banks ช่วยแก้หนี้
"หุ้นไฟแนนซ์" ปิดบวก! SAWAD นำทีมพุ่ง 4% รับ ครม. เปิดทาง Non-Banks ช่วยปลดหนี้ “ผ่อนน้อย-ดอกลด” ขยายเวลาลงทะเบียนถึง 30 เม.ย.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์บวกคึกนำโดยบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ปิดตลาดวันนี้(11ก.พ.67)ที่ระดับ 37.25 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 4.20% ราคาสูงสุด 37.75 บาท ราคาต่ำสุด 35.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 206.64 ล้านบาท
บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ปิดตลาดวันนี้อยู่ที่ระดับ 44.25 บาท บวก 1.25 บาท หรือ 2.91% ราคาสูงสุด 44.75 บาท ราคาต่ำสุด 42.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 173.48 ล้านบาท
บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ปิดตลาดวันนี้อยู่ที่ระดับ 17.40 บาท บวก 0.60 บาท หรือ 3.57% ราคาสูงสุด 17.50 บาท ราคาต่ำสุด 26.80 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 259.19 ล้านบาท
บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ปิดตลาดวันนี้อยู่ที่ระดับ 51.50 บาท บวก 0.75 บาท หรือ 1.48% ราคาสูงสุด 51.75 บาท ราคาต่ำสุด 49.25 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 203.70 ล้านบาท
บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ปิดตลาดวันนี้อยู่ที่ระดับ 110.00 บาท บวก 2.50 บาท หรือ 2.33% ราคาสูงสุด 110.50 บาท ราคาต่ำสุด 107.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 29.11 ล้านบาท
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบขยายโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ให้ลูกหนี้รายย่อยของ Non-Banks ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” 2 มาตรการ ดังนี้
– มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” ช่วยลูกหนี้ค้างชำระ ณวันที่ 31 ต.ค. 67 ของ Non-Banks ในสินเชื่อรถยนต์วงเงินไม่เกิน 800,000 บาท สินเชื่อรถจักรยานยนต์วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีวงเงินรวมไม่เกิน 100,000 หรือไม่เกิน 200,000 บาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแต่ละแห่ง สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ที่มีวงเงินรวมไม่เกิน 20,000 บาท และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่มีวงเงินรวมไม่เกิน 50,000 บาท
“โดยมาตรการนี้ จะลดภาระผ่อนชำระ 3 ปี เหลือเพียง 70% และลดดอกเบี้ยให้ 10% ตลอดระยะเวลา 3 ปี โดยพักดอกเบี้ยส่วนที่ลดให้ และยกเว้นให้เลย หากลูกหนี้ทำตามเงื่อนไขได้”
– มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” ช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ Non-Banks บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่เกิน 5,000 บาท โดยให้ลูกหนี้ชำระหนี้เพียง 10% เพื่อปิดหนี้ได้ทันที
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง จัด Soft Loan สำหรับ Non-Banks ของธนาคารออมสิน วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี และกำหนดให้วงเงินสินเชื่อของ Non-Banks แต่ละรายขึ้นอยู่กับการสูญเสียรายได้ของ Non-Banks แต่ละแห่ง ที่เกิดจากการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ครั้งนี้
“โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จะช่วยแก้หนี้ และดูแลความเป็นอยู่ของลูกหนี้ให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบเข้มข้นของรัฐบาล รัฐบาลได้ขยายระยะเวลาลงทะเบียนเข้าโครงการคุณสู้ เราช่วย เฟสแรกไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย.68 เช่นเดียวกับมาตรการที่ออกมาสำหรับลูกหนี้ Non-Banks ที่จะเป็นโครงการช่วยแก้หนี้ ดูแลความเป็นอยู่ของลูกหนี้ให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบเข้มข้นของรัฐบาล” นายเผ่าภูมิ กล่าว
รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้กังวลว่าการเร่งผลักดันโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชนนั้น จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ที่ดีจงใจผิดนัดชำระหนี้ (Moral Hazard) เนื่องจากโครงการมีการตัดเกณฑ์หนี้ค้างชำระชัดเจน ดังนั้นลูกหนี้จะแกล้งป่วยคงไม่ทันแล้ว และนี่เป็นโครงการเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนครั้งใหญ่ครั้งเดียว ที่ดำเนินการครอบคลุมทั้งลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และ Non-Banks ซึ่งถือเป็นความตั้งใจของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีประชาชนสมัครเข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เฟสแรก ไม่มาก เพราะมีการตั้งเกณฑ์ที่เข้มข้นเกินไปนั้น นายเผ่าภูมิ ยืนยันว่า เกณฑ์ไม่ได้เข้มข้นเกินไป และปัจจุบันมีประชาชนสมัครเข้าโครงการเกือบล้านคนแล้ว ส่วนเกณฑ์ที่ตั้งมานั้น เป็นการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา Moral Hazard และต้องการจะช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนจริง ๆ เท่านั้น
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างการพิจารณาสร้างกลไกเพื่อเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงให้ประชาชนในกระบวนการขอสินเชื่อรถยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะ ที่ต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกิดในสินเชื่อรถยนต์ขณะนี้ ไม่ได้อยู่ที่กำลังซื้อของประชาชน แต่อยู่ที่สภาพคล่อง และเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่อาจจะใช้เกณฑ์ในการประเมินความเสี่ยงอย่างระมัดระวังเกินไป
“เรื่องนี้ อยู่ในกระบวนการที่จะต้องคุยหลายฝ่าย เพราะลิสซิ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังนั้นการจะทำอะไรจึงยากพอสมควร ก็ต้องมาขอความร่วมมือ สร้างแรงจูงใจ สร้างกลไกในการช่วยลดความเสี่ยงให้ประชาชนผ่านกระบวนการใด ๆ ก็ว่ากันไป รายละเอียดอยากให้รอดู ตอนนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งทำงานร่วมกันอยู่ ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่ง่าย แต่ก็ยืนยันว่าอยู่ในกระบวนการ”
อนึ่งก่อนหน้านี้นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ KSS ระบุว่า ประเด็นที่รัฐบาลแก้หนี้ มีมุมมอง slightly positive ต่อประเด็นข่าวการแฮร์คัตเงินกู้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ทำให้คาดว่าหนี้สูญรับคืนของสถาบันการเงินจะกลับมาเร็วมากขึ้น พร้อมกับมองคนที่จะได้รับประโยชน์เป็นสถาบันการเงินที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตมากสุด โดยเรียงลำดับมากไปน้อยดังนี้
กลุ่มไฟแนนซ์ ได้แก่ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC สัดส่วน 98% บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS สัดส่วน 92% บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC สัดส่วน 10% บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD สัดส่วน 5%