![](https://media.kaohoon.com/wp-content/uploads/2025/02/America-Stockmarket_2025-02-05_down_0.jpg)
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ “ดาวโจนส์” ร่วง 225.09 จุด กังวลตัวเลขเงินเฟ้อแรงเกินคาด!
ดัชนีหลัก “ดาวโจนส์- S&P 500” ปิดติดลบ ขณะที่ Nasdaq บวกเล็กน้อย 0.03% นักลงทุนยังไม่คลายกังวลตัวเลข “เงินเฟ้อ” ที่พุ่งเกินคาด กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนความหวังที่ “เฟด” จะลดดอกเบี้ยริบหรี่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันพุธ (12 ก.พ.68) ปิดปรับตัวลดลงเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่นักลงทุน กังวลข้อมูลเงินเฟ้อเดือนมกราคมที่สูงเกินคาดการณ์
- ดัชนีดาวโจนส์ (.DJI) ปิดที่ 44,368.56 จุด ลบ 09 จุด หรือ 0.50%
- ดัชนี S&P 500 (.SPX) ปิดที่ 6,051.97 จุด ลบ 53 จุด หรือ 0.27%
- ดัชนี Nasdaq Composite (.IXIC) ปิดที่ 19,649.95 จุดบวก 10 จุด หรือ 0.03%
การปรับตัวลงของดัชนีหลักเป็นผลมาจาก ข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาดการณ์ ส่งผลให้นักลงทุนปรับลดคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (Fed) ในปี 2568 โดยตลาดเริ่มประเมินว่า เฟดอาจมีการลดดอกเบี้ยในปีนี้เพียง 1 ครั้ง จากเดิมที่เคยคาดไว้ 2 ครั้ง
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10 จุดพื้นฐาน (Basis Points) มาอยู่ที่ระดับ 4.64% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ หลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ผลประกอบการของบรรดา “บริษัทจดทะเบียน” ก็สะท้อนความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจในสหรัฐฯ โดยหุ้นบริษัท Kraft Heinz (KHC) ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำร่วงลง หลังแนวโน้มกำไรปี 2568 ต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาด ขณะที่หุ้น CVS Health (CVS) บริษัทด้านการดูแลสุขภาพ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลประกอบการไตรมาสล่าสุดออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2568 เพิ่มขึ้นถึง 3% เนื่องจากราคาไข่และพลังงานที่สูงขึ้น โดยยังเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 6 เดือน และสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 2.9% การเพิ่มขึ้นนี้เกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังจาก “เฟด” ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอย่างมาก
เป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำหนดให้การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อเป็นนโยบายหลักในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง นักเศรษฐศาสตร์หลายคน มีความเห็นว่า นโยบายต่างๆ ของเขาโดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น