![](https://media.kaohoon.com/wp-content/uploads/2025/02/2025-02-13_newsPM.jpg)
อัพเดท PM 2.5 กทม. พุ่ง! “เขตคลองเตย” พีกสุดเกินมาตรฐานระดับ “สีแดง”
เช้านี้ กทม. จมฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานระดับสีแดง 5 เขต ขณะที่ กรมควบคุมมลพิเศษ เตือน “13-16 ก.พ.” หลายพื้นที่ทั่วไทย มีแนวโน้มฝุ่นพิษสูง เหตุอัตราระบายอากาศต่ำ เกิดลักษณะ "ฝาชีครอบ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ณ เวลา 7:00 น. ของวันนี้ (13 ก.พ.68) ค่าเฉลี่ยของกทม. อยู่ที่ 63.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดย 12 เขตที่อันดับค่าฝุ่น PM 2.5 สูงสุด ประกอบด้วย
- เขตคลองเตย 82.1 มคก./ลบ.ม.
- เขตหนองจอก 80.1 มคก./ลบ.ม.
- เขตลาดกระบัง 79 มคก./ลบ.ม.
- เขตบางนา 78.3 มคก./ลบ.ม.
- เขตบางขุนเทียน 76.9 มคก./ลบ.ม.
- เขตมีนบุรี 74.8 มคก./ลบ.ม.
- เขตบึงกุ่ม 72.7 มคก./ลบ.ม.
- เขตคันนายาว 71.7 มคก./ลบ.ม.
- เขตบางกอกน้อย 71.5 มคก./ลบ.ม.
- เขตภาษีเจริญ 71.2 มคก./ลบ.ม.
- เขตคลองสามวา 70.6 มคก./ลบ.ม.
- เขตราษฎร์บูรณะ 70.5 มคก./ลบ.ม.
ขณะที่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของ PM 2.5 ตรวจวัดได้ 48.9-81 มคก./ลบ.ม. พบว่า เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง “มีผลกระทบต่อสุขภาพ” (มาตรฐาน 75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ) จำนวน 7 พื้นที่ และเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม “เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ” (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 63 พื้นที่
ทั้งนี้ กทม. ได้ประกาศเตือนล่าสุดว่าช่วงวันที่ 13-20 ก.พ.68 การระบายอากาศส่วนใหญ่ อยู่ในเกณฑ์ “อ่อน-ดี” ประกอบกับชั้นบรรยากาศใกล้ผิวพื้นมีลักษณะเปิดสลับปิด ทำให้ความเข้มข้นของฝุ่นละออง มีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลง และคาดการณ์วันนี้ อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส
ด้าน ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ระหว่างวันที่ 13-16 ก.พ.68 มีแนวโน้มเกินเกณฑ์มาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่กทม. และปริมณฑล ที่อาจพบบางพื้นที่อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรือ ระดับสีแดง และพื้นที่อื่นที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ปัจจัยทางด้านอุตุนิยมวิทยา ยังคงส่งผลต่อการระบายของฝุ่นละออง โดยในช่วงที่ฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อัตราการระบายอากาศค่อนข้างต่ำ อีกทั้งเกิดสภาพอุณหภูมิผกผันใกล้ผิวพื้น และมีสภาพเพดานการลอยตัวอากาศที่ต่ำมาก เกิดลักษณะคล้าย “ฝาชีครอบ” ส่งผลให้ฝุ่นละอองไม่สามารถระบายออกจากพื้นที่ได้ จึงมีการสะสมและแขวนลอยในชั้นบรรยากาศได้มาก