![](https://media.kaohoon.com/wp-content/uploads/2024/03/JMART_2024-03-04.jpg)
JMART ทรานส์ฟอร์มนำเทคฯ ขยายธุรกิจ Lock Phone ตั้งเป้าปี 68 กำไรโต 30%
JMART ชูกลยุทธ์ ทรานส์ฟอร์มนำเทคโนโลยี สร้างการเชื่อมโยงด้าน Commerce Tech และ FinTech พร้อมขยายธุรกิจ Lock Phone มั่นใจหนุนกำไรปี 68 เติบโต 30%
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานงวดปี 2567 มีรายได้จากการขายและบริการ 13,878.8 ล้านบาท กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น 1,140.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 355% จากปีก่อนหน้า และพลิกจากขาดทุน 447 ล้านบาทในปี 2566 แสดงถึงผลการดำเนินงานของบริษัทได้กลับเข้าสู่สภาวะของการเติบโต ด้วยกลยุทธ์ “The Power of Synergy” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้าง Ecosystem เชื่อมโยงธุรกิจในเครือในด้าน Commerce Tech และ FinTech เชื่อมั่นว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว ตั้งเป้ากำไร JMART ปีนี้เติบโต 30% จากปีก่อน
โดย JMT ผู้นำธุรกิจติดตามหนี้ และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ส่งกำไรให้ JMART มีผลประกอบการที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น 1,615.2 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 19.7% ซึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทมีการตั้งสำรอง (ECL) ที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ บริษัท ได้ปรับกลยุทธ์ เพิ่มมาตรการในการติดตามหนี้ด้อยคุณภาพให้ใกล้ชิดมากขึ้น ทำให้ตั้งแต่ไตรมาส 3/2567 เป็นต้นมา ระดับของ ECL ที่ต้องสำรองลดลงอย่างชัดเจน และมีการจัดเก็บหนี้คุณภาพที่ดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่ ในปี 2567 JMT มียอดจัดเก็บหนี้ (Cash Collection) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 8,809 ล้านบาท (รวม JK AMC) ใช้เงินลงทุนซื้อหนี้อยู่ที่ 1,139 ล้านบาท ซื้อหนี้เข้ามาประมาณ 30,000 ล้านบาท สนับสนุนพอร์ตบริหารหนี้รวมอยู่ที่ 544,920 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติอนุมัติให้ JMT เข้าร่วมทุนกับ บริษัท แอกซินัน (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท Axinan จากประเทศสิงคโปร์ จัดตั้งการร่วมค้า (Joint Venture) โดย JMT ถือหุ้นในบริษัทร่วมค้าสัดส่วน 51% เพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ และ InsurTech โดยความแข็งแกร่งของพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจประกันภัยในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้แบรนด์ “igloo” มีการขยายธุรกิจ InsurTech ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะสามารถใช้พลังจาก Ecosystem ขับเคลื่อน InsurTech ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ บริษัทที่ JMART เข้าไปลงทุนและสร้างการเติบโตอย่างโดดเด่น คือ สุกี้ ตี๋น้อย (Suki Teenoi) ภายใต้ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้นสัดส่วน 30% เท่ากับ 350.7 ล้านบาท จากผลกำไรสุทธิรวมของ Suki Teenoi 1,169 ล้านบาท (ไม่รวม การปันส่วนราคาซื้อ (PPA)) ในด้านรายได้ปี 2567 อยู่ที่ 7,029 ล้านบาท และสามารถรักษา Net Profit Margin อยู่ที่ 17% สะท้อนกลยุทธ์การควบคุมต้นทุนและบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ดี
โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 Suki Teenoi มีสาขาทั้งหมด 78 สาขา Teenoi BBQ (บุฟเฟต์ปิ้งย่าง) 1 สาขา และ Teenoi Express (บุฟเฟต์พรีเมียม) 1 สาขา จากปี 2567 ที่ผ่านมา Suki Teenoi มีสาขาจำนวน 55 สาขา โดยสาขาที่เปิดเพิ่มมีส่วนหนึ่งที่ได้เริ่มขยายออกไปต่างจังหวัด เช่น ชลบุรี, ระยอง, สุพรรณบุรี, มหาสารคาม, อุดรธานี และเชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งเป็นทำเลที่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการค่อนข้างหนาแน่น
พร้อมกับตั้งเป้าปีนี้ Suki Teenoi คาดว่าจะขยายสาขาประมาณ 26 สาขา เพื่อเพิ่มยอดขายและกำไร และได้ดำเนินกิจกรรมการทางการตลาดร่วมกับกลุ่มบริษัทเจมาร์ทต่อเนื่อง โดยในเดือนมกราคมได้เปิดสาขาร่วมกับบริษัทในเครือ คือ Teenoi BBQ ที่ Jas Green Village คู้บอน และเดินหน้าสาขาอื่นๆ เพิ่มเติม
ด้าน บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแกนของ JMART ในการเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกสินค้าเทคโนโลยีและสมาร์ทโฟน ในปี 2567 มียอดขายอยู่ที่ระดับ 8,605 ล้านบาท และมีสาขาที่เปิดทั่วประเทศ 309 สาขา ประเมินปี 2568 สัญญาณดี ได้รับอานิสงส์ในช่วงต้นปีจากภาครัฐบาลไฟเขียว Easy E-Receipt 2.0 ให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2568
รวมทั้ง สินค้าแฟลกชิพจากภาพรวมตลาด AI Smartphone เข้ามากระตุ้นการเปลี่ยนผ่านของการใช้มือถือ รวมทั้ง การร่วมมือกับบริษัทในกลุ่มผลักดันยอดขายผ่านสินเชื่อมือถือ Lock Phone ทั้งในส่วนของ Samsung Finance+ โดยบริษัท เคบีเจ แคปปิตอล จำกัด และ SG Finance+ โดย บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ส่วน บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ล่าสุด ประกาศผลงานปี 2567 กวาดรายได้จากการขายและบริการกว่า 631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากการรับรู้ 2 โครงการใหม่ที่ JAS Green Village ประเวศ และ รามคำแหง ด้านกำไรสุทธิทำได้เกือบ 166 ล้านบาท เดินหน้าแผนปี 2568 เน้นโฟกัสพื้นที่ศูนย์การค้าชุมชนซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 8 แห่ง มีพื้นที่รวมประมาณ 100,000 ตารางเมตร พัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งเป้ารายได้ปี 68 เติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER รายงานผลการดำเนินงานปี 2567 มีรายได้ 2,538 ล้านบาท พลิกมีกำไรสุทธิ 14 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีผลขาดทุนสุทธิ 3,210 ล้านบาท เนื่องจาก กลุ่มบริษัทฯ มีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตในธุรกิจสินเชื่อของบริษัทย่อย และการตั้งสำรองการลดลงของมูลค่าสินค้าในบริษัท
รวมทั้งสินค้าล้าสมัยในสินค้าคงเหลือ ลดลงอย่างมีสาระสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อน ในด้านผลงานไตรมาส 4/2567 มีผลขาดทุน 61 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากรับรู้ค่าใช้จ่าย One time จากการปิดสถานที่ค่าเช่าหรือค่าบริหารที่ไม่ก่อให้เกิดกำไร ทำให้มีการตั้งสำรองค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์ ซึ่งประกอบไปด้วย สินค้าคงเหลือ เครื่องมือ อุปกรณ์ และ ผลขาดทุนด้านเครดิตของบริษัทย่อยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังจากการจ่ายคืนหุ้นกู้ครบถ้วนเมื่อต้นเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาทำให้ SINGER ไม่มีต้นทุนทางการเงินจากหุ้นกู้อีกภายในปี 2568 นี้
โดยธุรกิจ Lock Phone ภายใต้บริษัท SGC ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ที่ทำผลงานได้ดีชดเชยกับยอดขายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลงจากการควบคุมนโยบายการอนุมัติของสินเชื่อในการควบคุมหนี้เสีย จึงตั้งเป้าในปี 2568 ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าจะขยายไปยัง Multi Brand และกลับมาโฟกัสตลาดมือถือให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และช่องทางการขายใหม่ๆ อีกทั้ง การไม่มีภาระจากการคืนหุ้นกู้ชุดสุดท้ายเรียบร้อยแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ สนับสนุนให้ต้นทุนทางการเงินในปีนี้ปรับตัวลดลง จึงคาดว่า SINGER กำไรเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
ด้าน บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC เปิดเผยถึง ความสำเร็จในการขยายธุรกิจใหม่ในปี 2567 สนับสนุนกำไรสุทธิอยู่ที่ 163 ล้านบาท พลิกฟื้นจากปี 2566 ขาดทุนอยู่ที่ 2,275 ล้านบาท ด้านรายได้รวมอยู่ที่ 1,955 ล้านบาท จากการนำเทคโนโลยีมาใช้ขยายธุรกิจ Lock Phone ทำให้สามารถสเกลได้ และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้ง การควบคุมต้นทุนการบริหารจัดการและ Credit Cost ต่างๆ ที่มีการติดตามอย่างใกล้ชิด ในด้านการคืนเงินกู้จะเป็นปัจจัยบวกทำให้ปีนี้ SGC ต้นทุนทางการเงินลดลง
นอกจากนี้ ในปี 2567 บริษัทมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่ที่ 5,103 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 6,471 ล้านบาท โดยหลักมาจากการลดลงของสินเชื่อรถทำเงิน (C4C) ซึ่งเป็นพอร์ตหลักของบริษัท มีสัดส่วนอยู่ที่เพียง 27% ของยอดสินเชื่อใหม่ ขณะที่ สินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า (HP) สัดส่วน 4% จากการอนุมัติการปล่อยสินเชื่อรัดกุม และโฟกัสสินเชื่อ Lock Phone ที่เริ่ม Nation Wide ในเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา จนถึงสิ้นปีสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่รวมอยู่ที่ 3,246 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 63% ของยอดสินเชื่อใหม่ สะท้อนการเติบโตเชิงรุกในธุรกิจที่เป็นโอกาสมากขึ้น สนับสนุนพอร์ตสินเชื่อรวมในปี 2567 อยู่ที่ 14,408 ล้านบาท
โดยธุรกิจสินเชื่อ Lock Phone ภายใต้โครงการ SG Finance+ ในปี 2567 มีสัญญาทั้งหมดกว่า 343,000 สัญญา ผ่านเครือข่ายร้านค้าพันธมิตรเกือบ 6,000 แห่ง และพาร์ทเนอร์แบรนด์มือถือชั้นนำ OPPO – VIVO – XIAOMI – realme – Infinix และล่าสุด Honor ในปี 2568 ยังคงโฟกัสสินเชื่อ Lock Phone เป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อระยะสั้น และมี NPL อยู่ในระดับต่ำ