พาราสาวะถี อรชุน

๑๑สิ้นสุดช่วงเวลาแห่งการรับฟังความเห็น (เฉพาะกลุ่มเห็นด้วย)สำหรับร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกภายใต้การนำของ มีชัย ฤชุพันธุ์ หลังจากนี้ กรธ.จะมีการเก็บตัวกันอีกรอบไม่รู้ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด เพื่อเคาะสรุปความเห็นต่างๆ ก่อนจะนำไปปรับแก้(น่าจะเป็นส่วนน้อย) เพื่อคลอดเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ในวันที่ 29 มีนาคมนี้


๑๑สิ้นสุดช่วงเวลาแห่งการรับฟังความเห็น (เฉพาะกลุ่มเห็นด้วย)สำหรับร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกภายใต้การนำของ มีชัย ฤชุพันธุ์ หลังจากนี้ กรธ.จะมีการเก็บตัวกันอีกรอบไม่รู้ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด เพื่อเคาะสรุปความเห็นต่างๆ ก่อนจะนำไปปรับแก้(น่าจะเป็นส่วนน้อย) เพื่อคลอดเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ในวันที่ 29 มีนาคมนี้

๑๑ความยากสำหรับฝ่ายเห็นต่างและโอกาสที่เสียงสะท้อนจะได้รับการขานรับนั้น อ่านได้จากขบวนล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 71 โดยขบวนสุดท้ายที่ถูกทหารสั่งให้เลื่อยพานท้ายปืนทิ้ง ซึ่งเป็นขบวนที่ชื่อว่า “ฟรีแลนด์ ห้ามคว่ำ ห้ามเผยอ เดี๋ยวเจอกัน” เป็นหุ่นในชุดที่เป็นรูปคล้ายมีชัยยืนเอาสองมือเทินพานรัฐธรรมนูญไว้บนหัว ข้างหน้ามีหุ่นปืนเอ็ม.16 วางตั้งอยู่และมีผ้าดำผูกปลายกระบอกปืน

๑๑โดยผ้าดำนั้นผูกห่อหุ่นตุ๊กตาไล่ฝนสีขาว สาดด้วยสีแดงเหมือนเลือด คล้ายภาพจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขบวนนี้มีคำอธิบายว่า ผลสุดท้ายสิ่งที่ถูกกำจัดด้วยรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่ใช่เพียงฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่อาจหาญมาท้าทายผู้มีอำนาจ หากแต่เป็นอำนาจของประชาชนและหน่ออ่อนของประชาธิปไตยเองต่างหาก ที่คงอาจไม่มีวันลืมตาดูโลกและเติบโตอย่างแข็งแรงมั่นคงในประเทศไทยได้เลย

๑๑คงจะเป็นเช่นนั้น เพราะในวันเดียวกันกับการแข่งขันฟุตบอลประเพณี ที่จังหวัดอำนาจเจริญ ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทยหรือวีมูฟและเครือข่าย ได้จัดเวทีเสียงประชาชนอีสานต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่โรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญ แต่หลังจากดำเนินงานได้แค่ 10 นาที ก็มีนายทหาร 4 นายเข้ามาร่วมงาน พร้อมกับถ่ายรูปบรรยากาศในงานและเก็บภาพคนพูดบนเวทีทุกคนรวมถึงผู้จัดงานด้วย
๑๑โดยผู้จัดงานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่คงไม่ดีพอเพราะหลังจากนั้นกลุ่มนายทหารดังกล่าวได้แจ้งผู้จัดยกเลิกการจัดงานทันที พร้อมให้เวลาเก็บของ 5 นาที โดยอ้างคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดห้ามจัดงาน ทางผู้จัดเลยย้ายเวทีไปที่โรงแรมรูท 202 กลุ่มนายทหารชุดเก่าก็ได้ติดตามไปและบอกให้ยุติการจัดโดยอ้างคำสั่งของผู้ว่า ทางด้านผู้นำกลุ่มการจัดงานจึงขอให้นายทหารคนดังกล่าวนำคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาแสดง

๑๑การกวดขันเช่นนี้ สุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ประสานงานวีมูฟ ต้องออกโรงมาเรียกร้องว่า  คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องรับฟังการเคลื่อนไหวของประชาชน เพราะวีมูฟพยายามทำให้ขบวนผู้หญิงและทั่วประเทศรับรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการกระทำของกลุ่มมิได้ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

๑๑ขณะที่ สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนมากเกินไป ร่างรัฐธรรมนูญต้องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทางวีมูฟจึงจัดโดยเปิดเผย พยายามประสานหลายฝ่ายแต่สุดท้ายโดนห้ามจัด ซึ่งตนในฐานะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้

๑๑น่าแปลกอยู่เหมือนกันที่มีการห้ามในครั้งนี้ เพราะความจริงวีมูฟได้การสัมมนาในลักษณะนี้มาแล้ว 2 หน หนแรกจัดที่รัฐสภามีมีชัยมาร่วมงานพร้อมสนับสนุนให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญมาประกอบการจัดสัมมนาด้วย ขณะที่ครั้งที่ 2 จัดกันที่จังหวัดลำปาง จึงไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าพื้นที่ภาคอีสานอ่อนไหวอย่างนั้นหรือ

๑๑หรือว่าหลังจากนี้ไปไม่ว่าจะอีสานหรือใต้ก็จัดไม่ได้ เพราะทหารได้เข้าไปดูแลเรื่องการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญเต็มรูปแบบแล้ว ถ้าเช่นนั้นคงต้องให้ทาง คสช.แจ้งไปยังมีชัยและ กรธ. เพื่อป่าวประกาศให้คนทั้งประเทศได้รู้ว่า ห้ามแสดงความคิดเห็นใดๆต่อร่างรัฐธรรมนูญ เว้นแต่จะประกาศตัวว่าสนับสนุนล้านเปอร์เซ็นต์

๑๑อย่างไรก็ตาม การถูกห้ามจัดงานดังกล่าวทางวีมูฟได้ออกแถลงการณ์ระบุการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่อำนาจเจริญถือว่าเป็นการคุกคามสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน เป็นการกระทำที่ขัดกับการที่ คสช.สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ วีมูฟจึงขอเรียกร้องให้ คสช.แสดงความรับผิดชอบและยุติการคุกคามสิทธิ เสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้นประชาชนคงไม่สามารถยอมรับร่างรัฐธรรมนูญที่ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนได้


๑๑ไหนๆก็พูดถึงผู้หญิงมีความเห็นของสุภาพสตรีอีก 1 รายที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างน่าสนใจนั่นก็คือ สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีต ป.ป.ช.ที่มองปมการเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมา โดยเจ้าตัวเห็นว่า ที่แล้วๆมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มีคำโต้แย้งทางสังคมมากเหลือเกิน แม้แต่ตัวเองก็เคยเขียนบทความโต้แย้งมาบ่อยครั้ง

๑๑ทำไมเป็นเช่นนั้นก็ขนาดอำนาจปกติยังไม่ได้เพิ่ม ยังมีข้อโต้แย้งหากเพิ่มอำนาจเช่นนั้นเหมือนประหารชีวิตบุคคลทางการเมือง ดังนั้น ต้องเอาคนที่มองกฎหมายออก การมองกฎหมายต้องแจ่มชัด เที่ยงตรง อ่านกฎหมายอย่างทะลุปรุโปร่ง อย่างกรณี สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้พจนานุกรมวินิจฉัยร่วม เรื่องเขาพระวิหารก็เช่นกัน มีคำวินิจฉัยชี้มูลเติมคำเข้าไป ทำให้เป็นผลร้ายต่อจำเลย ทำให้เป็นข้อกังขาของสังคม

๑๑ด้วยเหตุนี้สมลักษณ์จึงคิดไปถึงไม่ควรมีศาลรัฐธรรมนูญโน่นแล้ว เพราะในอดีตเคยมีตุลาการรัฐธรรมนูญแล้วเกิดปัญหา เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างให้บ้านเมืองเกิดวิกฤตจริงๆ สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้กันก็คือ กรธ.ต้องทำอย่างไรให้ศาลทั้งหลายอยู่บนความศรัทธา เพราะศาลหากคนไม่ศรัทธาก็ทำงานลำบากตรงนี้เหมือนที่อรชุนเคยย้ำมาตลอดยุติธรรมไม่มีสามัคคีเกิดยาก

๑๑ไม่เพียงเท่านั้นมุมมองของสมลักษณ์ในฐานะอดีตป.ป.ช. ก็มองเรื่องการชูร่างรัฐธรรมนูญเป็นฉบับปราบโกงด้วยว่า การทุจริตคิดแต่ว่านักการเมืองจะเข้ามาทุจริต แต่คงลืมไปว่าคนทุจริตไม่ได้มีเฉพาะนักการเมือง คนทุจริตมีทุกวงการ มีทั้งนักการเมือง ข้าราชการประจำ ทหาร ตำรวจ แม้แต่ข้าราชการตุลาการก็มี แต่ตุลาการมีการลงโทษชนิดที่รุนแรง เพราะฉะนั้นการทุจริตฝ่ายตุลาการจึงน้อยกว่าฝ่ายอื่น แล้วทำไมจึงไปคิดเฉพาะนักการเมืองเป็นสำคัญ

๑๑สรุปแล้วก็คือ ในส่วนของ กรธ.แทนที่จะทำงานเป็นนักโต้วาทีเหมือนอย่างที่มีชัยเป็นหัวขบวนโต้ทุกเม็ดย้อนทุกดอก โดยเวลานี้เลยเถิดไปถึงมีทหารออกมาเป็นลูกคู่ ทั้งที่ความจริงหากใครให้ความเห็นต้องรับฟัง ไม่ใช่คิดว่าคนที่ให้ความเห็นเป็นศัตรู หากยังลบอคติไม่ได้ คิดแต่คนที่มองต่างจากพวกตัวเองเป็นคนไม่ดี สร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง เช่นนี้แล้วบ้านเมืองคงสงบได้ยาก
/////

 

Back to top button