นกปีกหักแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

คาริล ยิบราน กวีเอกชาวเลบานอน เคยเขียนกวีร้อยแก้วเรื่อง Broken Wings เอาไว้สุดแสนประทับใจ โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “นกที่ปีกหัก ย่อมบินไม่ได้”


คาริล ยิบราน กวีเอกชาวเลบานอน เคยเขียนกวีร้อยแก้วเรื่อง Broken Wings เอาไว้สุดแสนประทับใจ โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “นกที่ปีกหัก ย่อมบินไม่ได้”

กรณีเครื่องบิน สายการบินโลว์คอสต์ นกแอร์ของ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK บินไม่ขึ้นถึง 9 เที่ยวบิน ในวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ ฉลองวันนักบุญวาเลนไทน์ ไม่ได้เป็นเพราะมีอาการปีกหักแบบที่ยิบรานเคยกล่าว แต่เพราะปัญหาการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของ ซีอีโอ ที่ชื่อ “บิ๊กดุ๋ง” นายพาที สารสิน เป็นซีอีโอนั่นเอง

คำอธิบายง่ายๆ ที่ว่า นักบินประท้วง ภายหลังจากที่เหตุการณ์ยกเลิกเที่ยวบินผ่านไป และผู้โดยสารตกค้างจำนวนมากประมาณ 1,500 คน ทั้งขาออกและขาเข้าดอนเมือง ดูมีเหตุผลว่างานนี้ นักบินที่หยุดบินโดยลากะทันหัน 5 คน (ที่เหลือไม่รู้สาเหตุ)ผิดเต็มประตู …แต่ยังไม่พอ เมื่อเทียบกับความเสียหายของแบรนด์สินค้าของนกแอร์ ที่ย่อยยับ

ยิ่งสถานการณ์สายการบินพาณิชย์ในกลุ่มชาติอาเซียนโดยรวม เป็นขาลงชัดเจน ถึงขั้นที่ผู้ประกอบการจำนวนมาก ทยอยขอให้บริษัทเครื่องบินเลื่อนการส่งมอบเครื่องที่สั่งซื้อเอาไว้ล่วงหน้าจ้าละหวั่น ก็ยิ่งมีคำถามตามมามากมายว่า การบริหารจัดการของ NOK จากนี้ไป จะเป็นขาลงแรงแบบ ฮาร์ด แลนดิ้ง มากกว่าใครอื่นหรือไม่

ธุรกิจสายการบินนั้น ภาพลักษณ์ที่เป็นจุดขายเสมอมาคือ ความแม่นยำต่อเวลาขึ้นลงของเที่ยวบิน ความปลอดภัย และความสะดวกอื่นๆ …ไม่ใช่เพราะซีอีโอ เล่นกีต้าร์เก่ง หรือ หล่อเหลาแค่ไหน..หรือเป็นข่าวบ่อยครั้งในหน้าสังคมเซเล็บแค่ไหน

คำแถลงของผู้บริหารว่า “…เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น มาจากความไม่พอใจของนักบินบางส่วนที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์การตรวจสอบของสายการบิน เนื่องจากสายการบินอยู่ระหว่างดำเนินการยกระดับมาตรฐานในระบบปฏิบัติการ เพื่อยกระดับการจัดการมาตรฐานความปลอดภัยของสายการบินให้ตอบสนองกับ IOSA (IATA Operation Safety Audit) ซึ่งเป็นระบบตรวจรับรองคุณภาพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล…” ไขรหัสความบกพร่องออกมาหมดเปลือก

การที่สายการบินหนึ่ง ยินยอมให้  “นักบินบางส่วน” (ไม่ระบุจำนวน) ที่มีมาตรฐานไม่เข้า “หลักเกณฑ์การตรวจสอบของสายการบิน” ยังคงประจำการทำหน้าที่ควบคุมเครื่องบินนำผู้โดยสารขึ้นลงจากฟากฟ้าอยู่จนถึงวันเกิดเหตุ แสดงว่าในทางปฏิบัติแล้ว ไม่ได้ยกระดับอะไรเลย

เพียงแค่นี้ ภาพลักษณ์ของแบรนด์ก็ด้อยลงมากเพียงพอแล้ว เพราะ มาตรการความปลอดภัยของผู้โดยสารจะต้องถึงระดับสูงสุด ไม่ใช่เอานักบินที่ไม่ได้มาตรฐานขึ้นประจำการต่อไป

การประท้วงของนักบิน จะด้วยสาเหตุใด..เช่น กลัวถูกปลดระวาง หรือ กลัวว่าจะถูกกดค่าแรงจากมาตรฐานที่ต่ำกว่าเกณฑ์ …เป็นแค่ปลายเหตุของปัญหา และไม่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของ IOSA

คำกล่าวประณามนักบินที่จับผู้โดยสารเป็นตัวประกันต่อรองบริษัทโดยไม่ยอมขึ้นบิน ของบิ๊กดุ๋งเมื่อวานนี้ จึงไม่มีความหมายอะไร ยิ่งผรุสวาทที่ระบุว่า “..แบบนี้อย่าให้เห็นนะ หน้าตัวเมียสุดๆ ไปใส่กระโปรงไป…” จึงเป็นคำพูดของซีอีโออ่อนหัด ที่ลุแก่โทสะเท่านั้นเอง..นะเพ่

ที่สำคัญ เหตุผลหลักที่ บิ๊กดุ๋ง ไม่ยอมตอบคำถามตรงๆเลยว่า ทำไมบริษัทจึงไม่จัดนักบินแทนขึ้นบิน อ้างว่า เพราะเป็นวันหยุด จึงบริหารจัดการไม่ได้เต็มที่…สะท้อนหนักข้อเข้าไปอีกว่า  บริษัทนี้ ไม่เคยมีแผนสำรองรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้น..ต้องแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ

คำขอโทษ และ การประกาศว่าพร้อมจะจ่ายเงินชดเชยความเสียหายบริษัทขอรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจะได้รับสิทธิในการขอรับเงินคืนและการขอรับค่าชดเชยตามระเบียบของกรมการบินพลเรือน ในทางทฤษฎีแล้ว เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น อาจทำให้ผู้โดยสารหายโกรธไปชั่วคราว แต่ไม่สามารถตอบคำถามที่ค้างคาใจคือ

1) เมื่อใด NOK จะแก้ปัญหาเที่ยวไม่ตรงเวลาเสียที เพราะยืดเยื้อมานานนับปีแล้ว จนเป็นที่รับรู้ไปทั่วว่า ขึ้นNOK แล้วต้องทำใจว่าอย่านัดใครล่วหน้า เพราะอาจผิดนัดได้ทุกเมื่อ

2) เมื่อใดนักบินที่มีมาตรฐานตามเงื่อนไขของ IOSA จะมีครบครันทั้งตัวจริงและสำรอง เพื่อจะได้ไม่ต้องหาเหตุหยุดบินโดยไม่แจ้งล่วงหน้าอีก

แค่สองเรื่องนี้ หากยังแก้ไม่ได้ งบการเงินที่เคยขี้เหร่ มาสองปีติดกันของ NOK (ดูตารางประกอบ) น่าจะดีขึ้นบ้าง

รู้ทั้งรู้ว่า บิ๊กดุ๋ง “เส้นก๋วยจั๊บ” แต่ว่า… ผู้โดยสารทางอากาศ ก็ไม่ได้มีทางเลือกเดียวนี่นา…อิ อิ อิ..

เครื่องบินนะจ๊ะ ไม่ใช่…รถหวานเย็น ทำนอง ถึงก็ชั่ง ไม่ถึงก็ชั่ง  

 

 

 

 

Back to top button