
จับตา DELTA ร่วงหนัก! หลังกำไร Q4 ต่ำคาด 60% เสี่ยงกด SET รูดต่อ
จับตา DELTA ร่วงหนัก! หลังกำไร Q4 ต่ำคาด 60% เสี่ยงกด SET รูดต่อ เนื่องจากมีอิมแพคต่อตลาดมาก หากลง 1 บาท มีผลต่อดัชนีถึง 1 จุด ด้านโบรกฯ ประเมิน SET วันนี้แกว่งตัวอ่อนลง จับตาแนวรับสำคัญ 1,252 จุด พร้อมแนะกลยุทธ์ Selective Buy รอจังหวะเข้าลงทุน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 ก.พ.68) ตลาดหุ้นไทยยังคงเผชิญแรงกดดันจากผลประกอบการของ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA หลังเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยพบว่ากำไรสุทธิปี 2567 อยู่ที่ 18,938.58 ล้านบาท เติบโตเพียง 2.80% เมื่อเทียบกับงวดเดียวของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 18,422.54 ล้านบาท ต่ำกว่าที่ตลาดและนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
ขณะที่กำไรสุทธิไตรมาส 4/2567 เหลือเพียง 2.15 พันล้านบาท ลดลง 64% จากไตรมาสก่อน และลดลง 54% เมื่อเทียบกับงวดเดียวของปีก่อน ต่ำกว่าที่ทาง บล. ฟินันเซีย ไซรัส และตลาดคาดถึง 60% (นักวิเคราะห์คาดไว้ประมาณ 5.4 พันล้านบาท) โดยมีรายการพิเศษจำนวนมาก ตามที่ DELTA ชี้แจง รวม 3 พันล้านบาท ได้แก่ 1. FX loss ในต้นทุนขาย USD13.3m (หรือประมาณ 452 ล้านบาท), 2. FX loss จากการ hedging และการเปลี่ยนแปลงใน balance sheet 329 ล้านบาท 3. รายได้ชดเชยจากการผิดสัญญาของลูกค้า 436 ล้านบาท,
4. การให้ Rebate (การส่งเสริมการขาย) กับลูกค้า data center ราว USD6.8m (หรือประมาณ 231 ล้านบาท), 5. การตั้งสำรอง (Warranty provision) เพราะเกิด defect ในงาน Magnetics solution ราว USD16.2m (หรือประมาณ 551 ล้านบาท), 6. การกลับรายการตั้งสำรองสินค้าคงเหลือ 290 ล้านบาท, 7. ค่าที่ปรึกษาทางกฎหมาย 1,008 ล้านบาท, 8. ค่าใช้จ่าย R&D ที่สูงกว่าไตรมาสอื่น จาก project ของฝั่งเยอรมณี,
9. มีการปรับเพิ่มอัตราการจ่ายค่า Technical service fees (ให้กับ Delta Taiwan) สำหรับสินค้า Non-AI และมีการเก็บย้อนหลัง USD26m (หรือประมาณ 884 ล้านบาท), 10. ถูกอินเดียเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม INR400m (หรือประมาณ 156 ล้านบาท) และ 11. ค่าใช้จ่ายชดเชยให้กับคู่ค้าตามที่มีข้อพิพาทกันตั้งแต่ในอดีต แต่มารับรู้เป็นค่าใช้จ่ายในไตรมาสนี้ 141 ล้านบาท
ทั้งนี้หากบวกกลับตามที่ DELTA ให้ข้อมูลทั้งหมด จะได้กำไรปกติราว 5.2 พันล้านบาท
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ KSS ประเมินดัชนี SET วันนี้อยู่ในช่วง “ย่อสร้างฐาน” โดยให้แนวต้านที่ 1,280 – 1,287 จุด และแนวรับที่ 1,252 – 1,240 จุด โดยมีปัจจัยลบกดดันตลาด ได้แก่ 1. Downside Risk จากหุ้นบิ๊กแคป นำโดย AOT, SCB และ DELTA ซึ่งรวมกันมีน้ำหนักราว 15.3% ของ SET โดยเฉพาะ DELTA ที่กำไรไตรมาส 4/2567 ต่ำกว่าคาดจากอัตรากำไร (Margin) ที่ลดลง
2. ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือนมกราคม -0.9% MoM ต่ำกว่าคาดการณ์ กระทบตลาดหุ้นสหรัฐฯ และช่วยกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Bond Yield) อายุ 10 ปี ลง -6 bps และ 3. GDP 4Q24F รายงานงานวันนี้ คาดขยายตัว 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนใกล้เคียงคาดการณ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของปี และคาดว่าจะขยายตัว 2.9% ในปี 2025
ส่วนบริษัทหลักทรัพย์กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด (มหาชน) หรือ KTX คาดการณ์ว่า SET Index มีแนวโน้มอ่อนตัว โดยให้แนวรับที่ 1,262-1,252 จุด และแนวต้านที่ 1,280-1,285 จุด จากแรงกดดันของ DELTA ที่รายงานกำไรต่ำกว่าคาด
กลยุทธ์การลงทุน: นักวิเคราะห์แนะนำกลยุทธ์ “Selective Buy” หรือการเลือกซื้อหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต โดยจับตาหุ้นที่ยังมีปัจจัยบวก เช่น KKP, MTC และ CPALL อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรรอสัญญาณซื้อ (Buy Signal) ก่อนเข้าลงทุน