คลัง มั่นใจ! GDP ไทย ปี 68 โต 3% เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ หวังแตะ 3.5%

“รมช.คลัง” มั่นใจเศรษฐกิจไทยปี 68 เติบโต 3% พร้อมเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังดัน GDP แตะ 3.5% ผ่านโครงการเงิน 10,000 บาท เฟสถัดไป และ Easy E-Receipt ด้าน นายกฯ สั่งจับตาการลงทุน-ส่งออก หลังใช้กำลังการผลิตในประเทศลดลง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 ก.พ.68) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.3-3.3% ค่ากลางที่ 2.8% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขของกระทรวงการคลังว่า ปีนี้กระทรวงการคลัง มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3% และพยายามทำให้ถึง 3.5% โดยในปี 2568 รัฐบาลยังมีการขับเคลื่อนนโยบายอีกหลายด้าน ทั้งการกระตุ้นผ่านโครงการเงิน 10,000 บาท ในเฟสถัดไป รวมถึงโครงการ Easy E-Receipt ที่เป็นตัวขับเคลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งสิ้น

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า หากย้อนกลับไปช่วง 10 ปี การคาดการณ์เศรษฐกิจไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 2% ปลาย ๆ ทุกปี แต่การเติบโตจริงไม่ถึง 2% เฉลี่ยที่ 1.9% และปีที่ผ่านมาของการทำงานของรัฐบาลปัจจุบัน ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเกินกว่าเป้าหมายในระดับหนึ่ง ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 4/67 ขยายตัว 3.2%  ยอมรับว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ไตรมาสแรกของปีก่อนหน้า จีดีพี(GDP) ต่ำมาก และได้พยายามขับเคลื่อนให้ GDP โตขึ้น แต่ยังไม่สามารถทำได้ตามที่คาดหวังไว้

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังกล่าวถึงการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า ได้ลงในรายละเอียดกลไกที่จะทำ 3-5 อย่าง เพื่อเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพยายามให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 0.5% เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายและการป้องกันการรั่วไหลของโครงการเงิน 10,000 บาท เพื่อให้เงินหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่ามองเพียงการใส่เม็ดเงินเพียงอย่างเดียว แต่กลไกอื่น ๆ เช่น การลดหย่อนภาษี การสร้างความสะดวกการประกอบธุรกิจให้ภาคเอกชน กลไกเหล่านี้สามารถสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งเราไม่จำกัดรูปแบบ ต้องรอให้มีการประชุมและสรุปอีกครั้งหนึ่ง” นายจุลพันธ์ ระบุ

ส่วนข้อเสนอของสภาพัฒน์ฯ ที่อยากให้รัฐบาลแบ่งเงิน 1.57 แสนล้านบาท ที่จะใช้ในโครงการเงิน 10,000 บาท เฟส 3 มาทำโครงการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ โครงการละ 5-10 ล้านบาท จะช่วยเศรษฐกิจได้มากกว่านั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มองว่า เป็นเงินในส่วนเดียวกันแต่การนำเงินไปใช้อาจมีความแตกต่าง ซึ่งการปรับโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ได้ละเลย และมีกลไกที่ดำเนินการอยู่แล้วผ่านงบประมาณประจำปี แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องทำก็สามารถพูดคุยกันได้ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณา

ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีการพูดคุยกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยตลอด และเชื่อว่า เป็นการพูดคุยที่มีข้อเสนอตรงกัน และหาจุดสมดุลว่าควรอยู่ไหน

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสัปดาห์หน้า (วันที่ 26 ก.พ.68) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไม่ได้คาดหวัง หรือหวังจะเห็นเซอร์ไพรส์ ต้องให้ความสำคัญเรื่องความเป็นอิสระ แต่เชื่อว่า ธปท. ทราบดีว่าต้องใช้กลไกใดที่สร้างเสถียรภาพทางการเงินได้และช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยที่ดีขึ้น ย้ำเชื่อว่า กนง. พิจารณาอย่างละเอียดอยู่แล้ว

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร วันนี้  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการจากการรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ที่ผ่านมา และแนวโน้มปี พ.ศ. 2568 โดย สภาพัฒน์ฯ ระบุว่า ตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 4 ของ ปี 2567 มีทิศทางที่ดีขึ้นโดยขยายตัว 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้าที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงผลของมาตรการและนโยบายด้านเศรษฐกิจ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ดำเนินการตลอดมา ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะตัวเลขการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น แต่การใช้กำลังการผลิตในประเทศ (Capital Utilization) ลดลง จึงขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันเร่งหามาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าวให้เร็วที่สุด

Back to top button