PTT เผยธุรกิจก๊าซฯตั้งงบ 2.1 แสนลบ.ลงทุน 5 ปี เน้นสร้างท่อฯเส้น 5-คลัง LNG

PTT เผยธุรกิจก๊าซฯตั้งงบ 2.1 แสนลบ.ลงทุน 5 ปี เน้นสร้างท่อฯเส้น 5-คลัง LNG


นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติตั้งงบลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 59-63) ที่ระดับ 2.1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะท่อส่งก๊าซฯหลักเส้นที่ 5 และการสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมรุกเจรจาจัดหา LNG เพิ่มเติมเสริมความมั่นคงพลังงานในระยะยาว ล่าสุดเจรจาปิโตรนาสขอเข้าลงทุนในแหล่ง LNG นอกเหนือจากการซื้อ LNG อย่างเดียว แต่ในระยะสั้นอาจต้องชะลอแผนนำเข้า LNG ตามสัญญาจากกลุ่มเชลล์และบีพี หลังพบความต้องการใช้ยังไม่มากตามแผน

นายนพดล กล่าวว่า สำหรับงบลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะประกอบด้วย งบลงทุนต่อเนื่องราว 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการทำโครงการต่อเนื่องที่จะทยอยแล้วเสร็จใน 1-2 ปี ได้แก่ โครงการท่อส่งก๊าซฯไปจ.นครราชสีมา รวมถึงการสร้าง LNG Receiving Terminal แห่งแรก ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต LNG เป็น 10 ล้านตัน/ปี จากเดิมที่ 5 ล้านตัน/ปี โดยโครงการนี้ในส่วนของหน่วยที่เปลี่ยน LNG เป็นก๊าซฯนั้น (Regas Unit) จะแล้วเสร็จในกลางปีนี้ ขณะที่ในส่วนของคลัง LNG จะเสร็จสมบูรณ์แบบในต้นปี 60

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่จะเริ่มใหม่ในช่วง 5 ปีนี้เพื่อปรับปรุงระบบโครงข่ายก๊าซฯ มูลค่าลงทุนราว 1.2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯหลักเส้นที่ 5 ความยาว 430 กิโลเมตร ที่เริ่มจาก จ.ระยอง ไปยัง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี และท่อเชื่อมระหว่างศูนย์ควบคุมก๊าซฯไปยัง จ.ราชบุรี อีก 120 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงระบบโครงข่ายท่อก๊าซฯจากฝั่งตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบก๊าซฯ โครงการจะอยู่ในช่วงสำรวจความคิดเห็นประชาชนและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 ปี ก่อนจะสามารถเปิดประมูลหาผู้รับเหมาได้ ขณะที่คาดว่าทั้งโครงการจะแล้วเสร็จในปี 64

ขณะที่งบลงทุนอีกกว่า 7 หมื่นล้านบาทจะใช้รองรับการลงทุนธุรกิจใหม่ด้านบริการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพโรงแยกก๊าซฯ ระบบโครงข่ายท่อก๊าซฯย่อย แต่สิ่งสำคัญหลักคือการลงทุนคลัง LNG แห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตัน/ปี เบื้องต้นคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับภาครัฐถึงรายละเอียดและการจัดทำโครงการ เห็นว่าควรจะก่อสร้างในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง เช่นเดียวกับคลัง LNG แห่งแรก เพราะจะเป็นพื้นที่ที่สามารถบริหารจัดการก๊าซฯได้ดีที่สุด โดยโครงการจะต้องเร่งดำเนินการให้เร็ว เพราะการก่อสร้างจะใช้เวลา 6-7 ปี ขณะที่ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว ปี 58-79 (PDP 2015) จะมีโรงไฟฟ้าจากก๊าซฯเข้าระบบเพิ่มเติมในปี 64-65 ซึ่งทำให้ความต้องการ LNG ในช่วงนั้นจะเกิดระดับ 10 ล้านตัน/ปีแล้ว

นายนพดล คาดว่า ความต้องการใช้ก๊าซฯในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 4,750 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ใกล้เคียงกับปีก่อนหลังมีการหยุดซ่อมบำรุงในแหล่งก๊าซฯหลายแหล่ง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตไม่มาก โดยปริมาณก๊าซฯในปีนี้จะมาจากอ่าวไทยราว 3,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ,ก๊าซฯจากเมียนมาร์ 3 แหล่งราว 850 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ลดลงหลังแหล่งก๊าซฯเยตากุน มีปัญหาปริมาณน้ำเข้ามาในแหล่งผลิตมากทำให้ระดับการผลิตที่ลดลงเหลือราว 250 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากปกติที่ 450 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ส่วนที่เหลือเป็นปริมาณก๊าซฯจาก LNG ราว 380 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

การนำเข้า LNG ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.7 ล้านตัน ใกล้เคียงจากปีก่อนที่นำเข้า 2.6 ล้านตัน ซึ่งปริมาณการนำเข้า LNG ยังไม่มากนักเนื่องจากความต้องการใช้ไม่ได้มากตามแผน ขณะที่ปัจจุบันมีการนำเข้า LNG ตามสัญญาระยะยาวจากการ์ต้าจำนวน 2 ล้านตัน/ปี ซึ่งสูตรราคาอิงกับราคาน้ำมัน ส่วนที่เหลือเป็นการซื้อจากตลาดจร (spot) ซึ่งปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ราว 6-7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งมีนับว่ามีระดับต่ำ

ขณะที่ ปตท.ยังมีแผนจะซื้อ LNG จาก Shell Eastern Trading (PTE) LTD และ บริษัท BP Singapore PTE. Limited ซึ่งเป็นสัญญาระยะยาวในปริมาณรายละ 1 ล้านตัน/ปี รวม 2 ล้านตัน/ปี โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ได้เห็นชอบร่างสัญญาซื้อขาย LNG ดังกล่าวแล้ว แต่ปัจจุบันยังรอการอนุมัติจากภาครัฐอย่างเป็นทางการก่อนที่จะมีการลงนามสัญญากัน แต่ด้วยความต้องการใช้ที่ยังไม่มากนักและราคา spot ที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ปตท.จะเจรจากับ BP และกลุ่มเชลล์เพื่อขอชะลอการรับ LNG ออกไปก่อนจากเดิมที่จะนำเข้าในปีนี้

แต่ในระยะยาวยังต้องมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหา LNG เพิ่มเติมเพื่อรองรับกับความต้องการใช้ก๊าซฯที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยที่จะลดลง โดยได้ทำสัญญา Head of Agreement เพื่อนำเข้า LNG จากปิโตรนาสของมาเลเซีย ปริมาณ 1 ล้านตัน/ปี แต่ล่าสุดได้เจรจาเพื่อขอเข้าไปร่วมลงทุนในแหล่ง LNG เพิ่มเติมด้วย เพื่อเพิ่มความมั่นคงในระยะยาว ซึ่งนอกจากแหล่ง LNG ของปิโตรนาสแล้ว ยังได้เจรจากับทั้งแหล่ง LNG ในสหรัฐ และแอฟริกาด้วย

นายนพดล กล่าวอีกว่า ปตท.ยังมองโอกาสการทำคลัง LNG ในรูปแบบ FSRU (Floating Storage & Regasification Unit:FSRU) ในฝั่งเมียนมาร์ และภาคใต้ของไทย เพื่อรองรับปริมาณก๊าซฯจากเมียนมาร์และก๊าซฯจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ที่จะทยอยลดลงตามสัญญาในอนาคต ขณะที่ขีดความสามารถของท่อส่งก๊าซฯยังคงมีอยู่ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดส่งก๊าซฯจากเมียนมาร์มาให้กับโรงไฟฟ้าทางฝั่งตะวันตกของไทยได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดส่งก๊าซฯให้โรงไฟฟ้าจะนะทางภาคใต้ได้อย่างต่อเนื่องด้วย

อย่างไรก็ตาม งบลงทุนในการทำคลัง LNG รูปแบบ FSRU นั้นยังไม่ได้ถูกจัดอยู่ในงบลงทุนตามแผน 5 ปีดังกล่าว

ทั้งนี้ การสร้าง FSRU ในเมียนมาร์ อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการคาดว่าไตรมาส 4/59 จะมีความชัดเจนทั้งเรื่องพื้นลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 แห่งคือ เมือง KANBAUK และเมืองทวาย รวมถึงจะมีความชัดเจนถึงรูปแบบในการร่วมทุนกับทางเมียนมาร์ ซึ่งระยะแรกคาดว่าจะมีขนาด 3 ล้านตัน/ปี หลังการศึกษาแล้วเสร็จจะเสนอการเจรจาร่วมทุนกับทางเมียนมาร์เพื่อนำไปสู่การทำโครงการต่อไป

ส่วนการทำ FSRU ในพื้นที่ภาคใต้ของไทยนั้น เบื้องต้นคาดว่าจะมีขนาด 3 ล้านตัน/ปีเช่นกัน ซึ่งทั้งสองโครงการยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางภาครัฐบาลไทยด้วย

Back to top button