
เปิด 3 เหตุผล “ไข้หวัดใหญ่” ระบาดหนัก 2 เดือนแรกป่วยเกินแสน!
“นายแพทย์ยง” เผยสาเหตุหลัก ทำไมไข้หวัดใหญ่ปีนี้ระบาดรุนแรงกว่าปีก่อน ชี้เป็น "การใช้หนี้" ทางภูมิคุ้มกัน หลังช่วงโควิดป้องกันเข้มจนแทบไม่มีการติดเชื้อ พร้อมเตือนฤดูกาลระบาดยังไม่จบ กรมควบคุมโรค คาดยอดผู้ป่วยทั้งปีอาจแตะ 9 แสนราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.พ.68) นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึง 3 เหตุผลที่ปีนี้ประเทศไทยมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่เพิ่มมากขึ้น
โดยนายแพทย์ยง กล่าวว่า เหตุผลที่ 1 คือเป็นการใช้หนี้ เนื่องจากในช่วงของโควิด-19 ระบาด มีมาตรการป้องกันโรคทางเดินหายใจอย่างเข้มข้น ใน 2-3 ปีแรกของการควบคุม จึงพบไข้หวัดใหญ่น้อยมากและไม่มีการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่เลย โดยประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้ติดเชื้อ ก็ไม่ได้มีภูมิต้านทานจากธรรมชาติ และเมื่อผ่อนปรนเข้าสู่ภาวะปกติ ประชากรส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีภูมิหรือไม่เคยติดเชื้อ ในช่วงเวลาดังกล่าวก็เกิดการใช้หนี้เก่า จากที่ไม่มีผู้ป่วยจึงทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยตั้งแต่ปีที่แล้ว มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 6.6 แสนราย และยังเพิ่มต่อในช่วงต้นปีนี้ และเชื่อว่าทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะปกติ หลังใช้หนี้หมดแล้ว
ส่วนเหตุผลที่ 2 ไข้หวัดใหญ่ทางซีกโลกเหนือจะระบาดมากในฤดูหนาว แต่เดิมทีประเทศไทยมีฤดูหนาวไม่ชัดเจน แต่ต้นปีนี้ เป็นปีที่มีฤดูหนาวอากาศหนาวเย็นเป็นระยะเวลานานพอสมควร โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสาน จึงเป็นฤดูที่เหมาะสำหรับการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ ทำให้มีไข้หวัดใหญ่มากในต้นปีนี้ พบในภาคอีสานเป็นจำนวนมาก ส่วนในกรุงเทพฯ ยังเพิ่มไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงพบผู้ป่วยมากตั้งแต่ต้นปีร่วมแสนราย แต่ทั้งปีเมื่อรวมกันของปีนี้ก็คาดว่า ไม่น่าสูงกว่าปีที่แล้วมากนัก เพราะกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน และจะไประบาดใหม่ในช่วงนักเรียนเปิดเทอม เชื่อว่ามีการใช้หนี้ไปแล้วและมีภูมิต้านทานขึ้นมาบ้างแล้ว รวมทั้งการรณรงค์ต่าง ๆ ในการป้องกัน
สำหรับเหตุผลที่ 3 คือการตรวจหาไข้หวัดใหญ่ง่ายขึ้น ปัจจุบันมีการตรวจ ATK จึงทำให้พบยอดสูงขึ้น หากย้อนไป 20 ปีก่อน ไข้หวัดใหญ่พบน้อยมาก เพราะไม่ได้ตรวจ เริ่มเห็นการตรวจพบมากขึ้นในปี 2552 ที่มีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ 2009 และกลับมาตรวจเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงโควิด-19 โดยในปี 2566 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 486,973 ราย ส่วนปี 2567 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 650,931 ราย และในปี 2568 ช่วงเกือบ 2 เดือน พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว 112,184 ราย เชื่อว่า ตัวเลขปีนี้น่าจะเยอะกว่าปีก่อน ทั้งปีน่าจะพบประมาณ 700,000 คน แต่ไม่เกิน 800,000 คน เพราะมีการตรวจที่ง่ายขึ้น
สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ ในปี 2567 พบผู้เสียชีวิต 50 ราย ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี 2568 พบผู้เสียชีวิตแล้ว 9 ราย เชื่อว่า ปีนี้จำนวนผู้เสียชีวิตจะสูงกว่าปีก่อนเล็กน้อย แต่สถานการณ์จะไม่เหมือนปี 2552 ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 200 กว่าคน ดังนั้น สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ขณะนี้ยังไม่มีอะไรผิดปกติ
“เหตุผลที่ว่าทำไมปีนี้ไข้หวัดใหญ่ถึงเป็นที่กล่าวถึงนั้น เนื่องจากดาราต่างประเทศเป็นและเสียชีวิต และในช่วงเดือนนี้ ในประเทศญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และเกาหลี เป็นช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดมากอยู่แล้ว” เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสฯ กล่าว
นายแพทย์ยง กล่าวอีกว่า คนไทยควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง โดยแนะนำให้ฉีดก่อนฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่หรือในฤดูฝน ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมจะเป็นช่วงที่ดีที่สุด โดยผู้ที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มากที่สุด คือ เด็ก, ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง ส่วนคนทั่วไปที่แข็งแรงดีให้พิจารณาตามความเหมาะสมและความสมัครใจว่า มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ส่วนผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ หากประเทศนั้นกำลังอยู่ในช่วงระบาดก็ควรได้รับวัคซีนป้องกัน และควรฉีดก่อนเดินทางอย่างน้อย 2 สัปดาห์จะดีที่สุด
ทั้งนี้ นายแพทย์ยง แนะนำวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ควรฉีดป้องกันว่าเป็นวัคซีนสำหรับ 3 สายพันธุ์ก็เพียงพอ เนื่องจากสายพันธุ์ที่พบบ่อยมากที่สุด คือ สายพันธุ์ A (H1N1) รองลงมา คือ H3N2 และสายพันธุ์ B ตระกูล Victoria โดยทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ยังพบการระบาดอยู่ทั่วโลก สำหรับอาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่กังวลที่สุด คือ อาการเส้นประสาทอักเสบ แต่โอกาสเกิดภาวะดังกล่าวมีน้อยมาก
“วัคซีน 4 สายพันธุ์จะเพิ่มสายพันธุ์ B ตระกูล Yamagata เข้ามา แต่มองว่าไม่มีความจำเป็นต้องฉีด เนื่องจากไม่พบ Yamagata มามากกว่า 4 ปีแล้ว” นายแพทย์ยง ระบุทิ้งท้าย
กรมควบคุมโรค เผยสถิติไข้หวัดใหญ่ระบาดปีนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ต้นปี 2568 จนถึงวันที่ 17 ก.พ.68 มีผู้ป่วยสะสมแล้วกว่า 107,570 ราย เสียชีวิต 9 ราย โดยผู้เสียชีวิตมีอายุระหว่าง 11 – 86 ปี ค่าเฉลี่ย 55 ปี เป็นเพศชาย 3 ราย เพศหญิง 6 ราย มีโรคประจำตัว 8 ราย เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง วัณโรคปอด และภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตทุกคนไม่มีประวัติการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่
สายพันธุ์ที่พบส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ A และพบการแพร่ระบาดในโรงเรียนมากที่สุด โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือกลุ่มอายุ 5 – 9 ปี, กลุ่มอายุ 0 – 4 ปี, และกลุ่มอายุ 10 – 14 ปี ตามลำดับ สำหรับการพยากรณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยปี 2568 นั้นจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มากถึง 9 แสนคน
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคแนะนำให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค, หญิงตั้งครรภ์, โรคอ้วน, เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี, ผู้พิการทางสมอง, ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป, และโรคธาลัสซีเมียและภูมิคุ้มกันบกพร่อง