ศาลล้มละลาย สั่งยกเลิกแผนฟื้นฟู “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” ชี้แผน “ไม่โปร่งใส-เอื้อเจ้าหนี้ใหญ่”

ผู้ถือหุ้นกู้ STARK เฮ! ศาลล้มละลายกลาง ยกเลิกแผนฟื้นฟู เฟ้ลปส์ ดอด์จ (PDITL) เอื้อเจ้าหนี้สถาบัน เปิดทาง "แก้เกม" ทวงคืนหนี้อย่างเป็นธรรมรอบใหม่


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่เจ้าหนี้ทางการเงินจำนวน 4 รายของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (“PDITL”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้ร่วมกันยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ PDITL ต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ PDITL เข้าแผนฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้จัดทำแผนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567

ต่อมา บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ได้เริ่มจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อนำเสนอต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งแผนที่นำเสนอนั้นปรากฏว่า ส่งผลกระทบต่อเจ้าหนี้รายย่อยที่เป็นผู้ถือหุ้นและผู้ถือหุ้นกู้ของ STARK โดยแผนฟื้นฟูที่จัดทำขึ้นส่วนใหญ่เอื้อประโยชน์ต่อเจ้าหนี้สถาบัน โดยเฉพาะเจ้าหนี้สถาบันที่ไม่มีหลักประกัน กลับได้รับสิทธิ์ในการชำระหนี้ถึง 72% ขณะที่เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ทั่วไปได้รับเพียง 10% ยิ่งไปกว่านั้น แผนยังระบุว่าหากเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ได้รับการชำระหนี้จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะต้องนำยอดดังกล่าวมาหักออกจาก 10% ที่จะได้รับอีกด้วย ทำให้ถูกมองว่าไม่เป็นธรรมต่อเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้รายย่อย

ล่าสุดวันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2568) นายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความผู้แทนผู้เสียหายจากหุ้นและหุ้นกู้ STARK เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ว่า ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกเลิกแผนฟื้นฟูกิจการ PDITL เนื่องจากเห็นว่าแผนฟื้นฟูที่เสนอมานั้นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลไม่มั่นใจในความถูกต้องของตัวเลขหนี้สินและทรัพย์สินที่แท้จริง ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่าการฟื้นฟูจะดีกว่าการปล่อยให้ล้มละลายหรือไม่ คำสั่งยกเลิกแผนฟื้นฟูดังกล่าวส่งผลให้ automatic stay ที่เคยมีผลบังคับใช้ก่อนหน้านี้ถูกยกเลิกไปด้วย

ทั้งนี้ คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ PDITL มีทั้งผลดีและผลเสียต่อผู้ถือหุ้นกู้รายย่อย ด้านหนึ่ง ผู้ถือหุ้นกู้ต้องดำเนินการฟ้องร้องและติดตามทวงหนี้ด้วยตนเอง แต่อีกด้านหนึ่ง การยกเลิกแผนฟื้นฟูอาจเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นกู้ได้รับชำระหนี้มากกว่าแผนเดิมที่เอื้อประโยชน์แก่เจ้าหนี้สถาบันการเงิน

นายจิณณะ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ต้องติดตามดูว่าเจ้าหนี้รายใหญ่จะดำเนินการอย่างไรต่อไป หากเจ้าหนี้รายใหญ่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งยกเลิกแผนฟื้นฟู ก็ต้องรอดูว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งอย่างไร ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือผู้ถือหุ้นกู้รายย่อยต้องรวมตัวกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง และเตรียมพร้อมที่จะ “แก้เกม” เพื่อให้ได้รับการชำระหนี้อย่างเป็นธรรม

Back to top button