
ม็อบชาวนาขู่ปิดถนน! “พิชัย” จี้ พาณิชย์-เกษตรฯ เร่งแก้ราคาข้าวตก-ขยายตลาด
“พิชัย ชุณหวชิร” ในฐานะประธาน นบข. จี้ กระทรวงพาณิชย์-กระทรวงเกษตรฯ แก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เร่งขยายตลาดเพิ่ม ขณะที่ ม็อบชาวนาภาคกลาง บุกประชิดรั้วทำเนียบฯ ขู่ปิดถนน ติดคุกก็ยอม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.พ.68) กลุ่มชาวนาในพื้นที่ภาคกลาง 7 จังหวัด ประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา, สุพรรณบุรี, อ่างทอง, ลพบุรี, สิงห์บุรี, ชัยนาท และปทุมธานี เดินทางมารวมตัวบริเวณถนนพิษณุโลก หน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล และส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาอย่างเร่งด่วน โดยมี 3 เรียกร้องคือ
- ประกันรายได้ข้าวที่ 11,000 บาทต่อตัน ไม่เกิน 50 ตันต่อราย
- จ่ายเงินชดเชยพื้นที่รับน้ำ 300 บาทต่อไร่ต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน
- ยกเลิกมาตรการห้ามเผาตอซังข้าว ตัดเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท หรือจัดสรรงบประมาณรับซื้อตอซัง
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่พบผู้ชุมนุม โดยยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับปัญหานี้ ชี้แจงว่าราคาข้าวตกต่ำเป็นผลกระทบจากการกลับมาส่งออกข้าวของอินเดีย ระบุว่าในวันพรุ่งนี้ (20 ก.พ.68) ภายหลังการประชุมของคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ด้านการตลาด จะมีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ชัดเจนออกมาแถลงให้รับทราบ
ด้าน นายสมชัย ไตรถาวร ประธานชมรมชาวนาอยุธยา กล่าวว่า หากพรุ่งนี้ไม่ได้รับคำตอบจากที่ประชุมที่ชัดเจน จะมีการรวมตัวของเกษตรกรชาวนาทุกจังหวัดทั่วประเทศ “ปิดถนน” ติดคุกก็ติดคุก และเชื่อว่ คนที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ คือ “นายกฯ” เท่านั้น
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาแนวทางดูแลเกษตรกรชาวนาอย่างรอบคอบและเหมาะสม ทั้งด้านการผลิตและด้านการตลาด
โดยสถานการณ์ข้าวล่าสุดว่า ได้รับรายงานจากทั้ง 2 กระทรวงว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลข้าวนาปรัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวเปลือกเจ้า ที่ออกมาแล้วเกือบ 10% และจะออกมากขึ้น ในเดือนมีนาคม-เมษายน ในพื้นที่ภาคกลาง และบางส่วนของภาคเหนือล่าง โดยส่วนใหญ่ข้าวนาปรังจะส่งออกทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง แต่ในปีนี้ราคาข้าวสารขาวในตลาดโลกปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่อย่างอินเดียส่งออกข้าวขาวมากขึ้น และคู่แข่งอย่างเวียดนามก็เสนอขายในราคาต่ำกว่าไทย ส่งผลต่อระดับราคาข้าวเปลือก
นายพิชัย กล่าวอีกว่า ได้สั่งการกระทรวงพาณิชย์เร่งผลักดันตลาดต่างประเทศเป้าหมาย เช่น แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ สำหรับการช่วยเหลือชาวนาที่มีประเด็นเกี่ยวกับการจัดการนาข้าวแบบไม่เผา รวมถึงผลกระทบจากการปล่อยน้ำเข้าพื้นที่นาข้าว และระบบน้ำชลประทาน ได้สั่งการกระทรวงเกษตรกรฯ เร่งพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมให้เกษตรกรไม่เสียโอกาส และมีวิธีการจัดการนาให้เหมาะสม ทั้งด้านต้นทุน และระยะเวลา
สำหรับราคาข้าวเปลือกเจ้า ณ วันที่ 17 ก.พ. 68 ข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ย 8,650 บาทต่อตัน ปรับลดลงจาก 12,445 บาทต่อตัน หรือลดลง 30%)ทั้งนี้ ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 เป็นต้นมา
ส่วนข้าวชนิดอื่น ๆ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ย 16,000 บาทต่อตัน ปรับเพิ่มขึ้นจาก 14,850 บาทต่อตัน หรือ เพิ่มขึ้น 8%, ข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ย13,250 บาทต่อตัน ปรับลดลงจาก 13,300 บาทต่อตัน หรือ ลดลง 0.4%, ข้าวเปลือกปทุมธานี เฉลี่ย 12,100 บาทต่อตัน ปรับลดลงจาก14,400 บาทต่อตัน หรือ ลดลง 16%