
EEC ดึงทุนต่างชาติทะลุ 2.5 แสนล้าน เล็งเปิด 20 เขตเศรษฐกิจพิเศษ
EEC เร่งเครื่องดึงลงทุน ทุนต่างชาติทะลักกว่า 2.5 แสนล้านบาท เล็งเปิด 20 เขตเศรษฐกิจพิเศษในปี 68 พร้อมตั้งเป้าลงทุนสะสม 5 ปี แตะ 5 แสนล้านบาท ดันไทยสู่ฮับอุตสาหกรรมใหม่
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดเพื่อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) เห็นชอบ โดยคาดว่าจะมีอย่างน้อย 10 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2568 ส่วนที่เหลือทยอยตามมาในปีถัดไป
ทั้ง 20 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้เป็นพื้นที่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจพร้อมรับสิทธิประโยชน์จาก EEC โดยแต่ละพื้นที่และอุตสาหกรรมอาจได้รับสิทธิที่แตกต่างกัน แต่จุดร่วมสำคัญคือการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดใน EEC และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกมากในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
ขณะนี้ถือเป็น “ปีทองของการลงทุนในไทยและ EEC” โอกาสสำคัญนี้หากพลาดไป อาจต้องรออีก 10-20 ปี กว่าที่จะมีช่วงเวลาที่เอื้อต่อการลงทุนลักษณะนี้อีกครั้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 จนถึง 17 กุมภาพันธ์ 2568
โดย EEC ได้เชิญชวนและดึงดูดนักลงทุนเข้ามาใน 5 กลุ่มคลัสเตอร์เป้าหมาย รวม 206 ราย คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 256,201 ล้านบาท ในจำนวนนี้ มีนักลงทุน 14 รายที่ยื่นข้อเสนอจริง รวม 13 โครงการ มูลค่า 136,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นกลุ่มดิจิทัล 4 โครงการ ยานยนต์สมัยใหม่ 1 โครงการ เศรษฐกิจ BCG 3 โครงการ และบริการ 5 โครงการ
อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนเซมิคอนดักเตอร์จากไต้หวันรายหนึ่ง ที่เดิมมีแผนจะเข้ามาลงทุนใน EEC มูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากยังต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติสิทธิประโยชน์สำหรับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นักลงทุนรายนี้จึงหันไปขอรับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แทน แม้จะยังคงลงทุนในประเทศไทย แต่การพลาดเม็ดเงินลงทุนระดับนี้ไปจาก EEC ถือเป็นเรื่องที่ต้องจับตา
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะนี้ซ้ำซ้อน นายจุฬา เปิดเผยว่า EEC กำลังผลักดันแพ็กเกจดึงดูดนักลงทุนที่มีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้วให้ขยายการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น แนวทางคือการจูงใจให้ปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ให้เข้ามาเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี EEC ตั้งเป้าหมาย 5 ปี ว่าจะต้องมีการลงทุนสะสมถึง 500,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 150,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2567 มูลค่าการลงทุนสามารถทะลุเป้าได้สำเร็จ ส่วนปี 2568 ก็ตั้งเป้าไว้ที่ 150,000 ล้านบาท และคาดว่าตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้ เนื่องจากนักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ยังคงมีความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน โครงการขนาดใหญ่ 4 โครงการใน EEC กำลังเดินหน้าไปตามแผน โดยท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2570-2571 ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างกลางปีนี้ ใช้เวลาดำเนินการ 5 ปี และเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2573 ขณะที่สนามบินอู่ตะเภากำลังเตรียมก่อสร้างรันเวย์และอาคารผู้โดยสาร คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 ปี และแล้วเสร็จในปี 2572
โดยมีรายงานว่า ภายในเดือนมีนาคมนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดลงพื้นที่ EEC เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ซึ่งจะเป็นอีกจุดสำคัญในการเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น