AMA รายได้ขนส่งสินค้าพุ่ง ดันกำไรปี 67  โต 10% แตะ 337 ล้านบาท

AMA รายงานกำไรปี 67 เติบโต 10% แตะ 337 ล้านบาท หลังรับรู้รายได้ให้บริการขนส่งสินค้าทางรถ และรายได้ของธุรกิจการขนส่งสินค้าเหลวเพิ่มขึ้น


บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ AMA รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 67 สิ้นสุด 31 ธ.ค.67 มีกำไรสุทธิ ดังนี้

บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 337.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 307.61 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากในปี 67 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้จากการให้บริการขนส่งสินค้า จำนวน 3,158.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107.79 ล้านบาท หรือ 3.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสัดส่วนรายได้จากการให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือของบริษัท คิดเป็น 51.40% และการให้บริการขนส่งสินค้าทางรถของบริษัทย่อย คิดเป็น 48.60%

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจการขนส่งสินค้าทางรถ มีรายได้ 1,534.98 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 160.85 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 11.71% โดยรายได้หลักมาจากการขนส่งสินค้าเหลว คิดเป็น 1,201.09 ล้านบาท รองลงมาคือการ ขนส่งแก๊ส และตู้คอนเทนเนอร์ 327.94 ล้านบาท และการขนส่งรถยนต์ 5.95 ล้านบาท

ขณะที่ รายได้ของธุรกิจการขนส่งสินค้าเหลว เพิ่มขึ้น 188.21 ล้านบาท หรือ 18.58% โดยปี 67 มีปริมาณการขนส่งน้ำมันรวม 3,096.68 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 500.70 ล้านลิตร หรือ 19.29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากจำนวนกองรถที่เพิ่มขึ้นจาก 304 คัน เป็น 334 คัน

นอกจากนี้ ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางรถในปี 67 มีกำไรขั้นต้น 258.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62.93 ล้านบาท หรือ 32.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 16.82% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 14.21% สาเหตุหลักมาจากการบริหารจัดการจำนวนเที่ยว วิ่งและต้นทุน รวมถึงการเพิ่มอัตราการใช้งานกองรถเฉลี่ย (Fleet Utilization) ส่งผลให้กำไรขั้นต้นเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นายพิศาล รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ AMA กล่าวว่า สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้ ธุรกิจการให้บริการขนส่งทางบกคาดว่าจะเติบโต 2 Digit เทียบปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าทางรถของบริษัทฯ และของบริษัทย่อย บริษัท เอ เอ็ม เอ โลจีสติกส์ (AMAL) ที่ได้มีการเพิ่มจำนวนรถจำนวน 30 คัน เป็น 334 คัน ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

“ในปี 2568 ธุรกิจขนส่งทางบกจะเป็นดาวเด่น จากความต้องการใช้รถขนส่งที่เพิ่มขึ้น เราเห็นสัญญาณที่ดี จากลูกค้าที่ขยายตัว อย่าง บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) ซึ่งใช้บริการรถขนส่งน้ำมันของ AMA คิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% มีแผนการขยายสาขากาแฟพันธุ์ไทยจำนวน 5,000 สาขา ใน 3 ปี สนับสนุน รวมทั้งลูกค้ารายอื่นด้วย และจากความต้องการที่สูงเรามีแผนที่จะซื้อรถเพิ่มอีก 20 คัน คาดเห็นความชัดเจนในไตรมาส 2 ของปีนี้  ส่วนการให้บริการขนส่งทางเรือ บริษัทยังมีจำนวนเรือเท่าเดิม ณ ปัจจุบัน และบริษัทยังคงพิจารณาถึงทิศทางการลงทุนในเรือลำใหม่โดยต้องดูความต้องการของผู้ใช้บริการและทิศทางค่าบรรทุกของปี 2568” นายพิศาลกล่าว

ปัจจุบัน AMA มีรถบรรทุกขนส่งน้ำมันจำนวน 334 คัน หากรวมกับบริษัท ทีเอสเอสเคโลจิสติกส์จำกัด หรือ TSSK ที่บริษัทเพิ่งเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 76% มีรถบรรทุกอยู่ประมาณ 200 คัน ทำให้ AMA มีรถบรรทุกรวมกว่า 500 คัน ขณะที่มีเรือจำนวน 8 ลำ น้ำหนักบรรทุกรวม 8.6 หมื่นเดทเวทตัน

Back to top button