ดอกเบี้ยติดลบพลวัต 2016

ดอกเบี้ยติดลบ


วิษณุ โชลิตกุล

 

ธนาคารกลางของโลกหลายแห่ง หันมาทดลองใช้มาตรการอัตราดอกเบี้ยติดลบกันมากขึ้น แม้จะมีจำนวนน้อย แต่เพียงแค่ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้ ก็มีผลทำให้ต้องพากันพิจารณาและติดตามว่าผลลัพธ์ท้ายสุดนั้น จะสัมฤทธิ์ตามเป้ามากน้อยแค่ไหน และมีความเสี่ยงมากแค่ไหน

หากพิจารณากันอย่างผิวเผิน สาระสำคัญของดอกเบี้ย คือต้นทุนของเงิน (หรือ ที่จริงคือ ทุน) ในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยที่มีปัจจัยขับเคลื่อน4 อย่างที่โยงเข้าด้วยกันถึง 4 ปัจจัยพร้อมกัน คือ การลงทุน/การออม เงินเฟ้อ การว่างงาน/จ้างงาน และอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดปริวรรต ซึ่งแต่ละตัวแปรมีการแปรผันตลอดไม่หยุดนิ่ง

พลวัตของอัตราดอกเบี้ย จึงหมายถึงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งของกลไกเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของ “มือที่มองไม่เห็น” อย่างหนึ่ง

ในเศรษฐศาสตร์มหภาค อัตราดอกเบี้ยที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย มี 2 รูปลักษณ์หลัก คือ อัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเลข (ไม่หักกลบด้วยเงินเฟ้อ เรียกว่า nominal interest rates) กับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (หักด้วยเงินเฟ้อ เรียกว่า real interest rates) ดังนั้นในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยเป็นบวก อัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเลขจะต้องสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเสมอ แต่กรณีตรงกันข้าม อัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเลขจะต้องต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเสมอ

ส่วนในเศรษฐศาสตร์จุลภาคนั้น ดอกเบี้ยที่เป็นตัวเลขมีความสำคัญมากกว่า ยกเว้นในด้านการออมหรือลงทุนส่วนบุคคลที่ต้องเอาดอกเบี้ยที่แท้จริงมาคำนวณแทน เพื่อดูว่า ผลตอบแทนคุ้มค่าหรือไม่ 

ในประเทศที่ตัดสินใจเข้าสู่ตลาดที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว (ซึ่งเป็นระบบที่ก้าวหน้ามากสุดในขณะนี้) อัตราดอกเบี้ยก็มีความหมายเพิ่มเติม ในฐานะ “ยาสารพัดนึกระยะสั้น” ที่แก้ปัญหาเกือบครอบจักรวาล โดยมี คณะกรรมการทางการเงิน (ที่มีธนาคารกลางเป็นหัวแรงหลัก) กำกับดูแลระดับอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมในฐานะ “พี่เบิ้ม” ของตลาด

โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนจะคุ้นเคยกับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นบวกเสมอมา ทำนองเดียวกับการเติบโตของจีดีพี และเงินเฟ้อ โดยที่อัตราดอกเบี้ยจะมากหรือน้อย ขึ้นกับระดับของเงินเฟ้อ แต่ในโลกของการเงินแล้ว อัตราดอกเบี้ยติดลบ ไม่ใช่ของใหม่ เพียงแต่ไม่ค่อยมีการใช้กันเท่านั้นเอง

แนวคิดเรื่องอัตราดอกเบี้ยติดลบ ถูกนำเสนอขึ้นมาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยนักคิดเยอรมัน ชื่อ ซิลวิโอ เกเซลล์ ในฐานะภาษีสำหรับ “การถือเงินไว้อย่างเปล่าประโยชน์” เพื่อป้องกันการที่มีคนเอาเงินถือไว้โดยไม่ลงทุนและไม่ออม แต่แนวคิดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นของคนสติเฟื่องเท่านั้น จึงไม่มีคนสนใจ

แนวคิดดังกล่าวถูกรื้อฟื้นมากล่าวถึงโดยจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ที่เสนอให้เก็บภาษีในลักษณะเดียวกัน แต่ก็ไม่มีนักการเมืองที่ไหนกล้าเอามาใช้เพราะกลัวจะเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นมา

เพิ่งจะนำมาใช้จริงจังก็โดยธนาคากลางสวีเดนเมื่อสามปีก่อนนี้เอง และเริ่มมีคนศึกษาลู่ทางเพื่อดำเนินการตาม จนกลายมาเป็นกระแสนิยมใหม่ในปีที่ผ่านมาและปัจจุบัน

การนำเอาอัตราดอกเบี้ยติดลบมาใช้ เป็นความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้พ้นจากภาวะเงินฝืดที่นับวันจะรุนแรงบานปลาย จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้คนนำเงินที่ถือเอาไว้มาใช้ประโยชน์ทั้งในการลงทุน และการออมในรูปอื่นๆ แทนการฝากเงินในธนาคารพาณิชย์

จุดหมายที่ไม่เคยมีการเอ่ยถึงโดยตรงอีกอย่างคือ ธนาคารกลางทุกแห่งยกเว้นเฟดฯของสหรัฐฯ มีข้อจำกัดไม่สามารถพิมพ์ธนบัตรขึ้นมาใช้เองโดยไร้ขีดจำกัด การเลี่ยงออกมาตรการอัดฉีดเงินผ่านมาตรการ QE แบบที่สหรัฐฯใช้มายาวนานจึงเป็นทางออกที่น่าทดลอง แต่ก็มีอันตรายพอสมควร

อันตรายของการนำเอานโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบมาใช้ อยู่ที่ 1) ธนาคารพาณิชย์ไม่ยอมทำตาม โดยเฉพาะการจะมีการเลือกลดดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (ดังที่ธนาคารญี่ปุ่นกระทำ) 2) ลูกค้าธนาคารอาจจะเลือกถอนเงินไปถือไว้เฉยๆ ไม่ยอมลงทุน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาธนาคารพาณิชย์ขาดสภาพคล่องได้ 3) ธุรกิจที่พึ่งพาเงินกู้อาจะรู้สึกว่าอัตราดอกเบี้ย ไม่สำคัญเท่ากับการมีแหล่งเงินเพื่อรองรับเป้าหมายการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ การใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ น่าจะทำให้ธุรกิจในภาคการผลิตขาดสภาพคล่องง่ายขึ้น และต้องปลดคนงานออกเพิ่ม

ในความเสี่ยงดังกล่าว  จึงมีคนท้วงติงว่าการใช้มาตรการดอกเบี้ยติดลบ น่าจะได้ผลในทางจิตวิทยาระยะสั้นๆ เท่านั้น ไม่สามารถยั่งยืนได้ เปรียบได้กับพฤติกรรมที่พระพุทธเจ้าเคยปรารภไว้ในอดีตกาลว่า เหมือนพาคนปวดฟันไปดูมายากล ซึ่งไม่ได้ทำให้อาการปวดฟันหายไปได้ อย่างดีก็แค่ลืมความเจ็บปวดไปชั่วขณะเท่านั้น

เพียงแต่ว่าในการกระทำดังกล่าว นายธนาคารกลางของประเทศที่นำเอามาใช้ก็มีเหตุผลรองรับการกระทำว่า มีทางเลือกอื่นน้อยเหลือเกิน ถือเป็นความจำเป็นเฉพาะหน้า

อัตราดอกเบี้ยติดลบที่นำมาใช้กันในปัจจุบัน จะมีทิศทางเป็นเช่นใด น่าติดตามยิ่งนัก เพราะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่เคยนำมาใช้จริงจังเลย โดยมีเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของโลกเป็นหนูตะเภาให้ทดลอง 

Back to top button