AAV รายได้ผู้โดยสารพุ่ง ดันกำไรปี 67 โต 6 เท่าตัว แตะ 3.5 พันล้านบาท

AAV เผยผลประกอบการปี 2567 กำไรสุทธิ 3,477.94 ล้านบาท เติบโต 646.63% จากปีก่อน หนุนโดยรายได้รวมที่เพิ่มขึ้น 18% จากจำนวนผู้โดยสารและค่าโดยสารเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้น พร้อมแผนขยายฝูงบินเป็น 66 ลำในปี 2568 รองรับตลาดในประเทศและต่างประเทศ ท่ามกลางแนวโน้มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว


บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 67 สิ้นสุด 31 ธ.ค.67 มีกำไรสุทธิ ดังนี้

บริษัทรายงานกำไรสุทธิ อยู่ที่ 3,477.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 646.63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 465.82 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากบริษัทมีรายได้รวมปี 67 อยู่ที่ 50,793.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 42,950.10 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากการขายและให้บริการ อยู่ที่ 49,435.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน สนับสนุนจากทั้งจำนวนผู้โดยสารและค่าโดยสารเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 10% โดยค่าโดยสารเฉลี่ยต่อผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 1,967 บาท ขณะที่รายได้จากบริการเสริมต่อผู้โดยสาร เพิ่มขึ้น 1% มาอยู่ที่ 409 บาท นอกจากนี้ บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ที่ 589 ล้านบาท จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

ขณะที่ รายได้จากบริการเสริม อยู่ที่ 8,520.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากค่าธรรมเนียมบริการฝากสัมภาระใต้ท้องเครื่องและการเลือกที่นั่งที่เพิ่มขึ้น แต่ถูกชดเชยด้วยค่าธรรมเนียมการดำเนินการที่ลดลงเนื่องจากผู้โดยสารมีการจองตั๋วโดยสารผ่าน Online Travel Agency (OTA) เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รายได้จากบริการเสริมคิดเป็น 17% ของรายได้จากการขายและบริการ ลดลงจาก 19% ในปีก่อน ส่วนรายได้จากบริการเสริมต่อผู้โดยสารยังคงเพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 409 บาท และในส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ อยู่ที่ 30.80 ล้านบาท ลดลง 92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากจำนวนหนี้สูญที่ลดลง

ปี 67 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาภายในประเทศไทยจำนวน 35.50 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยเที่ยวภายในประเทศที่ 198.70 ล้านคน-ครั้ง เพิ่ม 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในปีนี้ บริษัทขนส่งผู้โดยสารทั้งสิ้น 20.80 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ดีขึ้น

โดยมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารสูงถึง 91% ในขณะที่ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 8% เป็น 24,771 ล้านที่นั่ง-กม.จากจำนวนเครื่องบินปฏิบัติการบินที่ 56 ลำ ณ สิ้นปี 67 เพิ่มขึ้นจาก 52 ลำ ณ สิ้นปีก่อน

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินภายในประเทศทำให้ระยะทางบินโดยเฉลี่ย ลดลงเล็กน้อยเหลือ 1,075 กิโลเมตร อัตราการใช้เครื่องบินต่อลา อยู่ที่ 12.50 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน ลดลงเล็กน้อยจาก 12.70 ชั่วโมงต่อลำต่อวันในปี 66 ขณะที่ประสิทธิภาพความตรงต่อเวลายังคงอยู่ในระดับสูงที่สุดในอุตสาหกรรมที่ 79% แม้จะลดลงจาก 83% ในปีก่อน ซึ่งคาดว่าประสิทธิภาพความตรงต่อเวลาจะกลับมาเพิ่มขึ้นตามจำนวนเครื่องบินที่นำมาปฏิบัติการบินมากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศเป็นอันดับ 1 ที่ 40% ในปี 67

ส่วนแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในปี 68 สายการบินไทยแอร์เอเชียเตรียมขยายฝูงบินเป็น 66 ลำ ซึ่งมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยคาดว่าจะมีเครื่องบินปฏิบัติการบินจำนวน 63 ลำ ภายในสิ้นปี 68 เพื่อขยายการเติบโตทั้งตลาดภายในประเทศและระหว่างประเทศ

สำหรับตลาดภายในประเทศ สายการบินไทยแอร์เอเชียยังคง มุ่งรักษาความเป็นผู้นำและขยายเครือข่ายเส้นทางบินจากฐานปฏิบัติการหลัก โดยเฉพาะการเพิ่มเที่ยวบินจาก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตอกย้ำสถานะผู้นำจำนวนเส้นทางบินภายในประเทศที่มากที่สุด โดยคาดว่าปริมาณที่นั่งที่ให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 65% ของปริมาณที่นั่งที่ให้บริการทั้งหมดในปี 68

ขณะที่ตลาดระหว่างประเทศ ททท. คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน ในปี 68 กลับสู่ระดับ เดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด นำโดยนักท่องเที่ยวจีน, มาเลเซีย, อินเดีย, เกาหลีใต้ และรัสเซีย ทั้งนี้ สายการบินไทยแอร์เอเชียมี แผนจัดสรรปริมาณที่นั่งที่ให้บริการในเที่ยวบินระหว่าง ประเทศประมาณครึ่งหนึ่งไปยังกลุ่มอาเซียน ส่วนตลาดเอเชีย ใต้ คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 18% จาก 14% ปี 67

ส่วนที่เหลือจะจัดสรรไปยังจีนและเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ สายการบินยังมีแผนศึกษาความเป็นไปได้ของ เส้นทางบินใหม่ไปยังเกาหลีใต้ รวมถึงเส้นทางสิทธิเสรีภาพ การบินที่ 5 (Fifth Freedom)จากฐานปฏิบัติการบินนานาชาติ ที่สำคัญ เช่น จากฮ่องกงและไต้หวัน

Back to top button