พาราสาวะถี อรชุน
ต้องสู้กันถึงฎีกาคดี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ สั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงจนเป็นเหตุให้มีคนตาย 99 ศพ บาดเจ็บนับพัน หลังศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองต้องให้ ป.ป.ช.ชี้มูล โดยที่ทนายความของญาติผู้เสียชีวิตยืนยันจะยื่นฎีกาต่อไป โดยเห็นว่าแม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจในการสั่งฆ่าผู้อื่นได้
ต้องสู้กันถึงฎีกาคดี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ สั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงจนเป็นเหตุให้มีคนตาย 99 ศพ บาดเจ็บนับพัน หลังศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองต้องให้ ป.ป.ช.ชี้มูล โดยที่ทนายความของญาติผู้เสียชีวิตยืนยันจะยื่นฎีกาต่อไป โดยเห็นว่าแม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจในการสั่งฆ่าผู้อื่นได้
ในกระบวนการของศาลยุติธรรมคงไม่มีใครไปวิพากษ์วิจารณ์อะไรได้ แต่ในส่วนของ ป.ป.ช.ก็ชัดเจนไปแล้วว่าได้ยกคำร้องต่อการเอาผิดทั้งสองคนไปเรียบร้อยแล้ว แน่นอนว่า คำถามเรื่องมาตรฐานหรือบรรทัดฐานนั้น คงต้องเลิกพูดกันได้แล้ว เพราะคดีสลายม็อบเสื้อแดงเทียบเคียงกับสลายม็อบเสื้อเหลืองหน้ารัฐสภา ที่วันนี้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตกเป็นจำเลยในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ชัด
การทำงานขององค์กรอิสระที่ได้ชื่อว่าต้องป้องกันและปราบปรามการทุจริต อันหมายถึงการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ด้วยนั้น เป็นไปโดยเป็นธรรมและเป็นกลางจริงหรือไม่ แต่ในเมื่อสังคมคนดีเลือกที่จะเชื่อว่าคนเหล่านั้นทำดีแล้ว เช่นเดียวกับกรณีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถึงขั้นที่เขียนรัฐธรรมนูญจะเพิ่มอำนาจให้ บอกได้คำเดียวว่าอย่าหวังถึงการสร้างความปรองดอง
ของอย่างนี้มันเป็นเรื่องของความเชื่อถือเชื่อมั่น เมื่อฝ่ายหนึ่งยังรู้สึกว่าถูกกระทำอยู่ตลอดเวลา มันก็ยากที่จะยื่นมือไปแตะกับฝั่งที่ได้รับการโอบอุ้มอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน เหมือนอย่างที่บางคนบอกหากตาชั่งเอียง ท่ามกลางเสียงเรียกร้องไม่ว่าจะคนจำนวนมากหรือน้อยก็ตาม จำเป็นที่ฝ่ายผู้มีอำนาจจะต้องเงี่ยหูฟัง หากทำเป็นหูทวนลม สังคมสามัคคีคงไม่มีวันจะเกิดขึ้น
ตัวอย่างของความคลางแคลงใจที่เห็นได้ชัดคงเป็นกรณีความเคลื่อนไหวของพระที่จะเรียกว่าพระได้เต็มปากเต็มคำหรือเปล่าไม่ทราบ 1 รูปกับพระกลุ่มใหญ่ แน่นอนว่า ถ้ามองในมิติของความเหมาะสมถือว่าไม่สมควรทั้งสองฝ่าย แต่หากมองในแง่ของเหตุและผลที่เรียกร้อง พระผู้ถืออภิสิทธิ์ความเป็นอาจารย์ของผู้มีอำนาจถือว่าได้รับการดูแลและละเว้นในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเห็นได้ชัด
ด้วยเหตุนี้บทความของ วิจักขณ์ พานิช ว่าด้วยการอ้างธรรมวินัยของพุทธะอิสระจึงน่าสนใจ น่าสนใจในมุมที่มองว่า ฟังพุทธะอิสระอ้างความถูกต้องตามพระธรรมวินัย โดยบอกว่าไม่ยอมรับมติมหาเถรเพราะสิ่งที่มหาเถรทำไม่ตรงตามหลักธรรมวินัย สมมติว่าเอาตามที่พุทธะอิสระว่า พระทุกรูปที่เห็นต่างจากมหาเถรก็สามารถอ้างหลักเดียวกันได้หมด ประมาณว่าที่มึงทำไม่ตรงตามธรรมวินัยที่กูทำสิตรง
สมมติว่าวันหนึ่งพุทธะอิสระขึ้นมาเป็นสังฆราชเองเลย มีพระรูปหนึ่งบอกว่าจะไม่เอาพุทธะอิสระ อ้างหลักเดียวกันนี้ก็ได้ ฉันไม่เอาแกเพราะสิ่งที่แกทำไม่ตรงตามธรรมวินัย สิ่งที่ฉันทำต่างหากคือธรรมวินัย ในบริบทของโลกสมัยใหม่ การจะทำให้ทุกสำนักเห็นตรงกันในเรื่องธรรมวินัย เป็นไปไม่ได้ ถึงจะพยายามสังคายนาอะไรกันยังไงก็เป็นไปไม่ได้ ยังไงการเห็นต่างก็ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ธรรมวินัย แต่อยู่ที่”อำนาจรวมศูนย์”ที่พยายามมาควบคุมธรรมวินัยต่างหาก เพราะธรรมวินัยไม่ใช่ความจริงสูงสุดแต่เป็นหลักประพฤติปฏิบัติตน มันจึงต้องผ่านการตีความเสมอ และเมื่อผ่านการตีความ ธรรมวินัยจึงมีความหลากหลาย ใช้ประยุกต์ในสถานการณ์ได้ต่างกัน ธรรมวินัยมีชีวิต ทำให้พุทธะมีชีวิต
การที่แต่ละสำนักประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยไม่เหมือนกันในรายละเอียด จึงเป็นเรื่องธรรมดา สำคัญคือสำนักนั้นๆ สามารถใช้หลักธรรมวินัยในการตรวจสอบตัวเองและตรวจสอบกันเองเพื่อการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่เอาธรรมวินัยไปใช้ควบคุมจัดการคนอื่นที่เห็นต่างจากตน
ธรรมวินัยแบบที่พระผู้มีอำนาจเอามาอ้างกันตอนนี้ คือ“ธรรมวินัยแบบรัฐ” ที่เป็นผลผลิตของอำนาจรวมศูนย์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ทำให้กฎหมู่ของพระทำหน้าที่เหมือนกฎหมาย แล้วพยายาม apply การตีความกฎหมายจากคนกลุ่มหนึ่งให้มีอำนาจควบคุมจัดการคนกลุ่มอื่นๆ เมื่อธรรมวินัยกลายเป็นกฎหมายจารีตระดับรัฐ มันก็เละเทะอย่างที่เห็น และหมดสิ้นความเป็นธรรมวินัยในความหมายแรกเริ่ม
ธรรมวินัยคือกฎหมู่ไม่ใช่กฎหมาย และการตีความธรรมวินัยมาใช้ปฏิบัติตนและปฏิบัติต่อกันมันขึ้นอยู่กับความเต็มใจของกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนั้นๆ ธรรมวินัยเป็นเรื่องที่ต้องศึกษา ตีความ นำไปปฏิบัติ ตรวจสอบตัวเองและตรวจสอบกันเองในหมู่ผู้ปฏิบัติ ดังนั้น มันจึงต้องมีบรรยากาศของความไว้วางใจกันเป็นพื้นฐาน
คำถามก็คือ แล้วทุกวันนี้ที่เราเห็นพระแต่ละวัด แต่ละสำนัก ที่ไม่เคยมีสังฆกรรมร่วมกันสักอย่าง ไม่ได้รู้จักกัน แถมยังไม่ชอบขี้หน้ากันด้วย แต่กลับอ้างธรรมวินัยชุดเดียวกัน จึงถือว่าเป็นเรื่องตลกมาก ที่อ้างธรรมวินัยกันก็เพราะต้องการมี“อำนาจระดับรัฐ”มากกว่า ไม่ได้สนใจธรรมวินัยตามจิตวิญญาณดั้งเดิมของมันแต่อย่างใด
ทางเดียวที่จะทำให้ธรรมวินัยกลับมาฟังก์ชั่น เป็นธรรมวินัยในความหมายดั้งเดิมที่เอามาศึกษา ตีความ ตรวจสอบตัวเองและตรวจสอบกันเองก็คือ การแยกศาสนาออกจากอำนาจรัฐ แต่ละสำนักมีเสรีภาพในการตีความคำสอนและตีความธรรมวินัย เพื่อที่จะนำมาประพฤติปฏิบัติในวัดหรือในสำนักของตัวเอง ธรรมวินัยที่กระจายอำนาจหรือ decentralized แบบนี้มันสอดคล้องกับหลักเสรีภาพ
เมื่อทำเช่นนั้นได้จะช่วยให้พุทธศาสนามีการตรวจสอบตัวเองและตรวจสอบกันเองอย่างเป็นออแกนิค มีการเสวนา แลกเปลี่ยน เรียนรู้จากกัน(เฉพาะกลุ่มที่อยากจะเรียนรู้จากกัน) โดยไม่พยายามเอาอำนาจการตีความธรรมวินัยของสำนักใดสำนักหนึ่งมาครอบงำหรือควบคุมจัดการเพื่อทำให้พุทธศาสนาเป็นมาตรฐานเดียวตามความเชื่อของตน
ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามที่ผู้รับผิดชอบอ้างว่าเป็นปัญหา จนไม่สามารถนำไปสู่การเสนอชื่อพระสังฆราชองค์ใหม่ได้ หากมองให้ลึกลงไปแล้วเห็นได้เด่นชัดว่ามีกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่กระทำกันอยู่มันไม่ได้สะท้อนแค่ความเสื่อมของวงการสงฆ์เท่านั้น หากแต่ยังมองไปถึงความเสื่อมของผู้ถือครองอำนาจด้วย เพราะการยื้อยุดฉุดดึงเวลาออกไปนั้น มันสะท้อนให้เห็นว่า เป็นการยึดมาตรฐานที่สังคม (สงฆ์) ส่วนใหญ่ยอมรับได้หรือเพราะเกรงใจพระอาจารย์กันแน่