CK คาดรัฐบาลลาวสรุปให้สิทธิประโยชน์ชดเชยลงทุนเพิ่มโครงการไซยะบุรีใน H1/59
CK คาดรัฐบาลลาวสรุปให้สิทธิประโยชน์ชดเชยลงทุนเพิ่มโครงการไซยะบุรีใน H1/59
นายประเสริฐ มริตตนะพร กรรมการบริหารและผู้บริหารอาวุโส บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เปิดเผยว่า บริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม CK จะลงทุนเพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ในลาว
สำหรับส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น บันไดปลา ทางเรือผ่าน การระบายตะกอนดิน โครงสร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหว ฯลฯ เพื่อให้โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มีความสมบูรณ์พร้อมในทุกๆด้าน และเป็นโครงการที่ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างดีเยี่ยม ตามที่รัฐบาลลาวและคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง ต้องการที่จะปรับปรุงการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของโครงการให้เป็นโครงการตัวอย่างที่เป็นเลิศบนแม่น้ำโขง (Excellent Project) ทั้งนี้ บริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ จะว่าจ้าง CK ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างในโครงการนี้ต่อไป
ทั้งนี้ ต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นนี้ รัฐบาลลาวจะมีการปรับสัญญาสัมปทานเพื่อให้สิทธิประโยชน์เพิ่มและชดเชยแก่บริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ เพื่อให้โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มีผลตอบแทนการลงทุนที่เป็นไปตามเป้าหมาย สิทธิประโยชน์เหล่านี้ได้แก่ ภาษี ค่าธรรมเนียม ระยะเวลาสัมปทาน เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลลาวและทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในครึ่งแรกของปี 59
อนึ่ง โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีและโรงไฟฟ้าไซยะบุรี มีมูลค่าโครงการ 7.6 หมื่นล้านบาท โดยผู้ถือหุ้นหลักได้แก่ บมจ.ซีเคพาวเวอร์ (CKP) ถือหุ้น 30% กลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ผ่านบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ถือ 25% บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ถือ 12.5% รัฐบาลลาว โดย EDL ถือ 20% ,บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ถือ 7.5%
นายประเสริฐ คาดว่าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี จะทำรายได้ปีละประมาณ 15,000 ล้านบาท จากกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 7,200 กิกะวัตต์-ชั่วโมง/ปี ขายไฟกลับมาที่ประเทศไทย 95% ตลอดอายุสัญญา 29 ปี ซึ่งจะมีการขยายอายุสัญญาอีก โดยปัจจุบันงานก่อสร้างก้าวหน้า 60% เร็วกว่าแผน 5-10% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 62
นายประเสริฐ คาดว่ารายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในปี 59 จะทำได้อย่างน้อย 30,000 ล้านบาท จากปี 58 ที่คาดว่าจะมีรายได้ 35,000 ล้านบาท โดยเป็นการรับรู้จากงานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่ 90,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 58 และรักษาอัตรากำไรขั้นต้นที่ระดับ 8-9% แต่ปีนี้คาดว่ากำไรจะดีกว่าปีที่แล้ว เพราะปีนี้บริษัทจะรับรู้กำไรจากบริษัทในกลุ่มอย่างเต็มที่หลังจากที่เข้าถือหุ้นเกิน 20% ได้แก่ BEM ,CKP และบมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) รวมทั้งยังได้รับเงินปันผลด้วยซึ่งน่าจะใกล้เคียงปีก่อนที่คาดว่าจะได้รับเงินปันผลจากบริษัทย่อย จำนวนรวม 600 ล้านบาท
ด้านนายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานปฏิบัติการ ของ CK กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทคาดว่าจะได้รับงานใหม่ประมาณ 60,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ได้รับงาน 26,000 ล้านบาท โดยคาดว่าบริษัทจะได้รับงาน 1 ใน 4 จากการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มูลค่างาน 70,000-80,000 ล้านบาท และงานติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท และงานเพิ่มเติมของโครงการไซยะบุรีอีก 20,000 ล้านบาท
ในส่วนการเจรจาเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ- ท่าพระ ขณะนี้รัฐบาลได้เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนเป็นแบบ Net Cost คือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน จากเดิมที่มีมติคณะรัฐมตรี (ครม.) ใช้รูปแบบ Gross Cost ที่รัฐลงทุนเอง ดังนั้น จะต้องให้ยกเลิกมติครม.เดิม และเจรจาตรงกับผู้เดินรถเดิมคือ BEM (เดิมบมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BECL)) ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้ความเห็น โดยจะดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 56 และให้เข้าเป็นโครงการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) จากนั้นจะจัดตั้งคณะกรรมการมาตรา 13 มาเจรจากับ BEM ทั้งนี้คาดว่าจะได้ข้อยุติภายในครึ่งแรกปี 59
ส่วนการเดินรถไฟฟ้าจากสถานีบางซื่อถึงสถานีเตาปูน 1 สถานีนั้น บริษัทได้เจรจากับรฟม.แล้วว่า จะรับจ้างเดินรถชั่วคราว 2 ปี จากเดิมเสนอรับจ้าง 1 ปี ซึ่งกลุ่ม CK จะลงทุนระบบติดตั้งการเดินรถให้ก่อน วงเงิน 600 ล้านบาทและใช้เวลาติตตั้งระบบเดินรถ 15 เดือน และได้รับเงินค่าจ้างเดินรถปีละ 50 ล้านบาท โดยหาก BEM ได้เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จะนำเงินลงทุนส่วนนี้รวมในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายด้วย และจะสั่งซื้อรถไฟฟ้ารองรับเส้นนี้ประมาณ 28 ขบวน แต่ถ้าไม่ได้เดินรถรัฐบาลจะต้องจ่ายคืน