พาราสาวะถีอรชุน
ท่วงทำนองของกระบอกเสียงฝ่ายคนมีสีที่ออกมาปกป้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ราวกับร่วมเป็นกรรมการยกร่างเสียเองนั้น มองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ประเด็นที่ว่าเวลานี้ท่านผู้มีอำนาจอยู่ในช่วงขาลงหรือเรียกว่าอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเริ่มเสื่อม ซึ่งเป็นสัจธรรมธรรมดาว่า ความเสื่อมทำให้กลัว กลัวทั้งๆที่ตัวเองมีอำนาจล้นฟ้า
ท่วงทำนองของกระบอกเสียงฝ่ายคนมีสีที่ออกมาปกป้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ราวกับร่วมเป็นกรรมการยกร่างเสียเองนั้น มองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ประเด็นที่ว่าเวลานี้ท่านผู้มีอำนาจอยู่ในช่วงขาลงหรือเรียกว่าอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเริ่มเสื่อม ซึ่งเป็นสัจธรรมธรรมดาว่า ความเสื่อมทำให้กลัว กลัวทั้งๆที่ตัวเองมีอำนาจล้นฟ้า
ท่าทีของกระบอกเสียงคนมีสีนั้น ตอกย้ำยืนยันว่าคนเห็นต่างในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเป็น”พวกบิดเบือน”ถามว่าจะต้องให้ทุกคนออกมาบอกว่าร่างฉบับมีชัยดีเลิศประเสริฐศรี มีนายกฯที่มาจากประชาชน มี ส.ว.ที่ยึดโยงกับชาวบ้านเพราะผ่านการเลือกตั้งมาอย่างนั้นหรือ การทำสงครามข่าวสารแบบโบราณคร่ำครึนั้นใช้ได้ประสบความสำเร็จในยุคหนึ่งหมู่บ้านหรือหนึ่งตำบลมีโทรทัศน์แค่เพียง 1 เครื่องเท่านั้น
มาถึงพ.ศ.นี้ประชาชนยุคดาวเทียม ผู้คนอยู่ในยุคโซเซียลมีเดีย ไม่มีใครกินหญ้าจะไปเชื่อข่าวลือข่าวลวงโดยไม่ได้กรองกันอีกแล้ว เพราะฉะนั้นการที่ไปเที่ยวกล่าวหาว่าคนนั้นคนนี้บิดเบือน จึงต้องย้อนกลับไปตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาตัวเองก่อนว่า ใครกันแน่ที่โกหกตอแหลคำโต มิเช่นนั้น ระวังจะถูกประชาชนเขาประจานเอาว่าโง่ดักดาน
สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนตั้งฉายาให้ว่าเป็นฉบับอภิชนเป็นใหญ่นั้น ล่าสุด อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ หนึ่งในอาจารย์ของมหาวิทยาลัยดังกล่าวก็ได้เขียนบทความโดยใช้คำว่าลองอธิบายดูว่ากลุ่มอภิชนที่กำหนดให้รัฐธรรมนูญเป็นเช่นนี้ พวกคนเหล่านั้นคิดอะไรกันอยู่ และสิ่งที่คิดกันนั้นมันจะทำไปสู่อะไรบ้าง
แน่นอนว่า คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญอาจจะบอกว่าพวกเขาร่างกันเองไม่ได้มีกลุ่มอะไรมาหนุนทั้งสิ้น แต่ก็คงต้องบอกกันก่อนว่าทุกท่านที่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมานั้นไม่ได้ร่างขึ้นจากสุญญากาศ โดยแยกตัวเองจากสายสัมพันธ์ที่ตนเองมีมาตลอดชีวิต ดังนั้น กระบวนการคิดการตัดสินใจจึงแอบอิงอยู่กับทั้งหมดของชีวิตที่ทุกท่านได้ดำเนินมา ซึ่งสังกัดทางสังคมของพวกท่านก็ไม่ใช่สามัญชนคนธรรมดาอย่างประชาชนทั่วไป
อาจจะเรียกการรวมตัวกันของกลุ่มอภิชนในสังคมไทยได้หลายลักษณะ แต่ลักษณะที่คนมักจะคิดและใช้กันได้แก่คำว่าเครือข่ายหรือ Network ซึ่งตนรู้สึกคำนี้ไม่ค่อยตรงกับระบบความสัมพันธ์ในกลุ่มอภิชนนัก เพราะเครือข่ายทำให้เรารู้สึกนึกถึงความเหนียวแน่นของความสัมพันธ์และการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มจะส่งผลกระทบไปยังกลุ่มอื่นๆอย่างเป็นไปสู่เป้าหมายหลักเดียวกันโดยไม่ขัดแย้ง
สำหรับอภิชนของสังคมไทยไม่เคยมีลักษณะความสัมพันธ์ดังกล่าว ในที่นี้อยากจะลองคิดในคำว่า Party of orderโดยหมายถึงการรวมกลุ่มกันอย่างหลวมๆ แต่ได้สร้างความเห็นพ้องตรงกันในหลักการกว้างๆ ขึ้นชุดหนึ่ง และการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มก็จะเป็นอิสระจากกัน ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวของบางกลุ่มอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งกับพวกเดียวกันอีกกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งสมาชิกในกลุ่มเองก็เคลื่อนย้ายตนเองได้อย่างอิสระระดับหนึ่งโดยที่ไม่เป็นมุ้งหรือ Faction ที่เหนียวแน่นแบบกลุ่มการเมืองในญี่ปุ่นหรือจีน
หากคิดถึงความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิด Party of Order เช่นนี้ สิ่งที่ต้องมองหรือเข้าใจให้ได้ ได้แก่ อะไรเป็นหลักการกว้างๆและเป็นชุดความคิดที่ทำให้อภิชนทั้งหลายเข้ามาร่วมกันเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้นมาจนถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คิดว่ามีสองชุดความคิดที่เป็นหลักการที่บรรดาอภิชนทั้งหลายยึดเอาไว้เป็นแกนกลาง ได้แก่ ความคิดเรื่องดุลยภาพทางอำนาจและความสงบเรียบร้อย
ความต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกพรรคการเมืองและความต้องการให้พรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลนั้นอ่อนแอ ก็เพื่อที่จะทำให้ดุลยภาพทางอำนาจนั้นอยู่ในสภาวะดุลกันได้ ไม่มีคนกลุ่มใดมีอำนาจเหนือกลุ่มอื่นๆอย่างเด็ดขาด
ความคิดเรื่องดุลยภาพทางอำนาจและความสงบเรียบร้อย เป็นความคิดทางการเมืองที่ Party of Order ได้ร่วมกันจรรโลงมาเป็นเวลานาน และทำหน้าที่ผลักดันประเทศไทยให้ก้าวหน้ามาได้ระดับหนึ่ง จึงทำให้อภิชนทั้งหลายคิดว่าเป็นกรอบความจริงสูงสุดที่ต้องยึดกุมเอาไว้ และก่อให้เกิดสภาวะวิกฤติทางการเมืองมาจนถึงทุกวันนี้
ชนชั้นนำไทยที่มีความต่อเนื่องสืบทอดสถานะของกลุ่มตนมาได้ยาวนานได้ร่วมกันสร้างระเบียบทางการเมืองชุดหนึ่งขึ้นโดยเน้นการดำรงสภาพทางการเมืองที่มีดุลยภาพทางอำนาจ เพื่อผดุงความสงบเรียบร้อย ของสังคมระเบียบทางการเมืองนี้แสดงออกมาอย่างชัดเจนในช่วงสามถึงสี่สิบปีที่ผ่านมา แม้ในการตั้งชื่อของคณะทหารที่ทำรัฐประหารก็จะต้องเน้นว่าตนเข้ามาเพื่อรักษาระเบียบนี้ และเห็นได้ชัดมากในร่างรัฐธรรมนูญฉบับอภิชนเป็นใหญ่นี้
ดุลยภาพทางการเมืองจึงเป็นระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่ต้องสรรหาคนที่น่าไว้วางใจหรือคนที่มี”บารมี” ซึ่งก็คือคนที่สามารถทำให้เกิดการจำหน่ายจ่ายแจกทรัพยากรอย่างเสมอหน้าให้แก่ทุกกลุ่มที่เข้ามาร่วมในระบบการเมือง ดุลยภาพทางการเมือง เช่นนี้จึงเป็นเพียงการสร้างดุลย์ของชนชั้นนำเดิมเท่านั้น เพราะพลเมืองที่เกิดขึ้นมาไม่สามารถที่จะล่วงรู้ความเป็นคนดีได้ ขณะเดียวกันคนดีที่จะขึ้นมามีอำนาจก็จะสังกัดและสัมพันธ์อยู่กับกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น ไม่ได้มองหรือมองไม่เห็นพลเมืองแต่อย่างใด
ความสงบเรียบร้อยจึงเป็นเรื่องของการกีดกันไม่ให้เกิดสำนึกพลเมือง แต่จะวางเพดานจำกัดไว้ภายใต้ความหวังดี ปรารถนาดีของคนดีเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้สิทธิของพลเมืองหายและกลายรูปไปเป็นส่วนที่เป็นหน้าที่ของรัฐไป แม้สิทธิชุมชนที่ต่อสู้ต่อรองกันมานานหลายสิบปีก็หายไปอย่างไม่น่าเชื่อ
ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นนำไทยเองจะทำให้เกิดความเปราะบางของ Party of Order มากขึ้น ความพยายามอย่างสุดขั้วในการจรรโลงระเบียบทางการเมืองอย่างที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่น่าใช่ความปรารถนาร่วมกันอย่างแรงกล้าในการรักษาระเบียบอีกต่อไป ข่าวลือเรื่องการรัฐประหารซ้อนก็แสดงให้เห็นว่ามีความไม่พึงพอใจมากขึ้น
ปัญหาการจัดการระบบการเมืองเหลืออยู่ประการเดียวได้แก่ พลเมืองจะสามารถแสดงพลังมากพอจนกระทั่งทำให้กลุ่มที่ยังมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงนั้นกลายเป็นคนกลุ่มน้อยใน Party of Order ได้อย่างไรผลที่จะเกิดขึ้นกับร่างรัฐธรรมนูญนี้จะบอกให้เรารู้ว่าชนชั้นนำไทยรับรู้และปรับตัวทันสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ส่วนที่ผู้นำยึดอำนาจออกมาท้าเหยงๆ ดีเบตร่างรัฐธรรมนูญกับกลุ่มที่เห็นต่าง อยากจะรู้เหมือนกันว่าถ้ามีคนรับคำท้าจะกล้าจริงอย่างที่พูดหรือเปล่า