ลูกไก่ในกำมือแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
ค่ำวันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ศาลล้มละลายกลางได้ไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทเรียบร้อยแล้ว และ ได้กำหนดนัดฟังคำสั่งการ ในวันที่ 10 มีนาคม 2559
ค่ำวันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ศาลล้มละลายกลางได้ไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทเรียบร้อยแล้ว และ ได้กำหนดนัดฟังคำสั่งการ ในวันที่ 10 มีนาคม 2559
ก่อนหน้าความคืบหน้าดังกล่าวแค่ 1 วัน ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ขึ้นเครื่องหมาย SP หุ้น SSI เนื่องจากอยู่ระหว่างพิจารณาว่า บริษัทเข้าข่ายต้องปรับปรุงฐานะการเงิน และการดำเนินงานหรือไม่ หลังบริษัทได้นำส่งงบการเงินประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ฉบับที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีฐานะการเงินที่อาจเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนกล่าว .เพราะ….มีส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่าศูนย์
การห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของ SSI จะมีไปจนกว่าตลาดหลักทรัพย์ฯจะได้ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ไม่เกิน 7 วันทำการ หรือภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559
คำสั่งห้ามซื้อขาย เกิดขึ้นหลังจาก SSI ส่งงบการเงินงวดสิ้นปี 2558 โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 40,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9 เท่า จากปี 2557 ที่มีขาดทุนสุทธิ 4,903 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายงวดปี 2558 อยู่ที่ 19,255 ล้านบาท ลดลงจากปี 2557 ที่มียอดขาย 32,316 ล้านบาท
งบการเงินดังกล่าว ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น เนื่องจาก 3 ประการคือ 1) การถูกจำกัดขอบเขตของการตรวจสอบในกรณีธุรกรรมของบริษัท SSI UK 2) ความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการใช้เกณฑ์การดำเนินงานต่อเนื่องในกรณีชำระหนี้ของบริษัทย่อย 3) ทำให้ตัวเลขผลการดำเนินงาน และฐานะการเงิน ที่ปรากฏอาจไม่แสดงค่าที่แท้จริงของกิจการ
ภาระหนี้ที่ซับซ้อนของ SSI ในการเดินหน้าตามหาความฝันของบรรพชนเพื่อจะเป็นเจ้าของโรงงานเหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งในที่สุดขาดทุนอย่างหนักจนถึงขั้นทุนติดลบในงบการเงินล่าสุด จนต้องตัดสินใจ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ด้วยเป้าหมายที่เขียนสวยหรูว่า “….เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ และเพื่อรักษามูลค่าทางธุรกิจของบริษัทไว้รวมถึงคงไว้ ซึ่งระดับความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทให้มีอยู่ อีกทั้งเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อพนักงาน ลูกค้า และคู่ค้าของบริษัท..”
การขึ้นศาลล้มละลายกลางดังกล่าว เป็นกระบวนที่ผู้บริหารของ SSI แสดงความเชื่อมั่นว่า “..เมื่อศาลมีคำสั่งให้บริษัทฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่คู่ค้าและสถาบันการเงินในการที่จะพิจารณาให้การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจแก่บริษัทมากยิ่งขึ้น…”
ความเชื่อมั่นดังกล่าว ไม่แปลก เพราะหากย้อนรอยกลับเข้าไปเมียงมองถึงรากเหง้าที่มาของ SSI UK กับมูลหนี้ที่บานปลายเป็น 5 หมื่นล้านบาทเศษซึ่งปล่อยเงินกู้ข้ามประเทศของธนาคารไทย 3 รายอันกล้าหาญ จะเห็นถึงความไม่ปกติของดีลที่เกิดขึ้นให้สังเกตไม่ยากเย็นอะไรเลย
SSI มีความเพียรพยายามเดินตามฝันของ เสี่ย วิทย์ วิริยประไพกิจ ที่ต้องการเป็นเจ้าของโรงงานถลุงเหล็กใหญ่ระดับโลกให้ลือลั่น แต่ความพยายามสร้างโรงงานถลุงเหล็กในไทย ถึงขั้นซื้อที่ดินและทำพิมพ์เขียวเสร็จแถวบางสะพาน ไม่สำเร็จเพราะถูกต่อต้านแข็งขัน จึงหาทางให้ที่ปรึกษาการเงินติดตามซื้อโรงเหล็กในต่างประเทศทางลัด จนกระทั่งเจอโรงเหล็กผลิตแท่งเหล็กแบนอายุร่วม 120 ปีของกลุ่มตาต้าของอินเดียชื่อ TCP ที่เมืองทีไซด์ ในอังกฤษ ซึ่งปิดโรงงานไปหลายปี เพราะขาดทุนป่นปี้ ไม่ต่างอะไรกับจุดจบของเจ้าของก่อนหน้ามากกว่า 10 ราย ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา
การเจรจาซื้อขายกิจการด้วยราคาแสนถูก เพียงแค่ 500 ล้านดอลลาร์ เป็นผลสำเร็จในต้นปี 2544 ด้วยเชื่อว่าเป็นการลงทุนที่เหมาะกับยุทธศาสตร์เชื่อมโยงธุรกิจต้นน้ำเพื่อสร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบ และหาแหล่งผลิตป้อนโรงงานเหล็กรีดร้อนรีดเย็นของ SSI ในไทย
ผลพวงเหนือการควบคุมที่ติดมากับโรงงานคร่ำคร่า คือ ค่าซ่อมบำรุงมโหฬาร และเทคโนโลยีพ้นยุค ต้องมีต้นทุนอีกเท่าตัวในการปรับปรุงและซ่อมบำรุง ในลักษณะ “ผลิตไป ปิดซ่อมไป”
ความสำเร็จในการซื้อโรงงานเหล็กข้ามประเทศนำธงชาติไทยไปปักที่โรงงาน TCP ที่เปลี่ยนชื่อใหม่มาเป็น SSI UK กลายเป็นทุกขลาภในเวลาเพียงแค่ 3 ปีและลุกลามเป็นฝันร้ายของเจ้าหนี้อย่าง SCB, KTB และ TISCO ที่ร่วมกันปล่อยกู้ในรูป 1) สัญญาเงินกู้ระยะยาวและเงินทุนหมุนเวียนในรูปเงินบาท จำนวน 23,900 ล้านบาท 2) สัญญาเงินกู้ระยะยาวและเงินทุนหมุนเวียนในรูปเงินดอลลาร์ จำนวน 600 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตัวเลขขาดทุนของบริษัทลูกที่อังกฤษ ซึ่งใหญ่กว่าแม่หลายเท่าตัว มาโผล่ที่งบการเงิน SSI ทุกไตรมาส พ่วงกับการแก้ต่างจาก SSI เองและเจ้าหนี้ว่า กิจการขาดทุนลดลงเรื่อยๆ นับวันจะดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่อาจปิดบังความจริงได้ กระทั่งกลางปี 2557 ส่วนผู้ถือหุ้นที่ร่อยหรอ ทำให้ SSI ต้องประนอมหนี้ โดยกลุ่มเจ้าหนี้ยื่นเงื่อนไขว่า จะปรับโครงสร้างนี้ให้โดยยืดอายุ ถ้าหาก SSI ยินยอมเพิ่มทุน
ท้ายสุดการเจรจาที่ไม่ลงตัว ทำให้เกิดปฏิบัติการ “ตัดท่อน้ำเลี้ยง” จน SSI UK หยุดผลิตเหล็กกะทันหัน ทำลายสถิติเจ๊งเร็วสุดในประวัติวงการเหล็ก ต้อง “มอบตัว” เข้าแผนฟื้นฟู ภายใต้เงื่อนไขที่เจ้าหนี้ต้องยอมรับว่า ให้ลูกหนี้บริหารแผนเอง
ขืนไม่ยอมรับก็อดได้หนี้เงินก็คืนน่ะสิ…ถามได้
ผลลัพธ์ของการชี้ขาดโดยศาลล้มละลายกลางในวันที่ 10 มีนาคมที่จะถึง น่าจะช่วยเปิดตานักลงทุนได้เข้าใจว่า “ลูกหนี้ที่เคารพ”อย่างSSI แม้จะมอบตัวต่อศาลล้มละลายไปแล้ว แต่ก็ยังมีพลังในการต่อรองที่บรรดาเจ้าหนี้ต้อง “ศิโรราบ” มากแค่ไหน
แบงก์เจ้าหนี้ทั้ง 3 รายนั้น ตอนนี้มีฐานะได้แค่ “ลูกไก่ในกำมือ”ของ SSI เท่านั้นเอง…..555555