
PTTEP เด้ง 3% รับข่าวทุ่มงบ 2.6 แสนล้าน ลุยธุรกิจ “พลังงานลมนอกชายฝั่ง-ดักจับคาร์บอน”
PTTEP ดีด 3% รับข่าวทุ่มงบลงทุนปีนี้ 2.6 แสนล้านบาท รุกธุรกิจพลังงานลมนอกชายฝั่ง ดักจับและกักเก็บคาร์บอน พร้อมขยายลงทุนแหล่งยาดานาและซอติก้า ยันแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และอ่าวเมาะตะมะ ประเทศเมียนมา ไร้ผลกระทบแผ่นดินไหว
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (1 เม.ย.68) ราคาหุ้น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ณ เวลา 10:31 น. อยู่ที่ระดับ 120.50 บาท บวก 4.00 บาท หรือ 3.43% สูงสุดที่ระดับ 121.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 119.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 441.89 ล้านบาท
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP เปิดเผยว่า กรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศเมียนมานั้น ปตท.สผ. ยืนยันว่า แท่นผลิตก๊าซธรรมชาติที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งในอ่าวไทย และอ่าวเมาะตะมะ ประเทศเมียนมา ยังสามารถดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการใช้พลังงานได้ตามปกติ และการผลิตก๊าซฯ ในเมียนมา ถือเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย ที่ปัจจุบันไทยต้องนำเข้าก๊าซฯ LNG ราว 40% ของความต้องการใช้ ผลิตในประเทศ ราว 60% นำเข้าจากเมียนมา ประมาณ 15% และที่เหลือนำเข้าจากแหล่ง JDA
ขณะเดียวกันการผลิตก๊าซฯ ในเมียนมา ทั้งจากแหล่งยาดานาและซอติก้า เป็นการส่งก๊าซฯ ป้อนให้กับเมียนมา คิดเป็น 50% ของความต้องการใช้ ซึ่งถือเป็นเรื่องของมนุษยธรรม ดังนั้น ปตท.สผ. จะยังเดินหน้าขยายการลงทุนในแหล่งยาดานาและซอติก้า ต่อไปเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
โดยปี 2568 บริษัทตั้งงบประมาณลงทุนรวมอยู่ที่ 7,819 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 261,940 ล้านบาท ประกอบ ด้วยรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) จำนวน 5,299 ล้านดอลลาร์ฯ และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure) จำนวน 2,520 ล้านดอลลาร์ฯ
ทั้งนี้ยังเดินหน้าการดำเนินงานตามแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2568-2572) ที่ได้จัดสรรไว้ โดยมีรายจ่ายรวม (Total Expenditure) 33,587 ล้านดอลลาร์ฯ แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน 21,249 ล้านดอลลาร์ฯ และรายจ่ายดำเนินการ 12,338 ล้านดอลลาร์ฯ
รวมถึงยังได้สำรองงบประมาณ 5 ปี (ปี 2568-2572) เพิ่มเติมจากงบประมาณข้างต้นอีกจำนวน 1,747 ล้านดอลลาร์ฯ เพื่อรองรับการขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานลมนอกชายฝั่ง ธุรกิจดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS as a Service) ธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และการลงทุนในธุรกิจและเทคโนโลยี ผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานในรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC) ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมขององค์กรในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำในอนาคต
ขณะเดียวกัน ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ภายใต้โครงการ Arthit CCS (แหล่งอาทิตย์) ถือเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ โดยได้เสร็จสิ้นขั้นตอนของการออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED) แล้ว คาดว่าจะสามารถลดการปล่อย CO2 ประมาณ 700,000–1,000,000 ตันต่อปี โดยปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างตรวจสอบราคาประมูลค่าการก่อสร้างโครงการฯ คาดว่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ได้ช่วงกลางปี 2568
ส่วนโครงการศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Eastern Thailand CCS Hub เป็นการศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่ม ปตท. จังหวัดระยองและชลบุรี (Seaboard) เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งโครงการนี้อยู่ระหว่างการศึกษากฎระเบียบต่าง ๆ และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐต่อไป อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการ CCS ของ ปตท.สผ.จะต้องคุ้มค่าต่อการลงทุน