
6 หุ้น “อาหารสัตว์” ร่วงแรง! เซ่น “สหรัฐ” เปิดฉากเก็บภาษีนำเข้าไทย 36%
ITC ร่วง 7% นำทีม PPPM-AAI-ASIAN- GFPT-TU หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย อัตรา 36% สูงกว่าคาดการณ์ กดดันตลาดส่งออกไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (3 เม.ย.68) ราคาหุ้นกลุ่ม ส่งออกอาหารสัตว์ ปรับตัวลงยกแผง ณ เวลา 10:11 น. หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริก ประกาศขึ้นภาษี “ภาษีต่างตอบแทน” Reciprocal tariffs กับประเทศไทยในอัตรา 36% ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ นำโดย บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 12.60 บาท ลบ 1.00 บาท หรือ 7.35% สูงสุดที่ระดับ 12.70 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 12.20 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 48.47 ล้านบาท
บริษัท พีพี ไพร์ม จำกัด (มหาชน) หรือ PPPM ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 0.35 บาท ลบ 0.02 บาท หรือ 5.41% สูงสุดที่ระดับ 0.35 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 0.35 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 0.02 ล้านบาท
บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 4.90 บาท ลบ 0.30 บาท หรือ 5.77% สูงสุดที่ระดับ 5.05 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 4.84 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 7.80 ล้านบาท
บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 7.25 บาท ลบ 0.35 บาท หรือ 4.61% สูงสุดที่ระดับ 7.35 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 7.15 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 5.29 ล้านบาท
บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 8.15 บาท ลบ 0.15 บาท หรือ 1.81% สูงสุดที่ระดับ 8.30บาท ต่ำสุดที่ระดับ 8.15 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2.65 ล้านบาท
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 10.90 บาท ลบ 0.20 บาท หรือ 1.80% สูงสุดที่ระดับ 11.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 10.80 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 16.25 ล้านบาท
สืบเนื่องมาจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้แถลงข่าวบังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้าชุดใหม่ที่สั่นสะเทือนโลกการค้า โดยเริ่มจากการเก็บ “ภาษีพื้นฐาน” (Baseline Tariff) ในอัตรา 10% สำหรับสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าสหรัฐฯ จากทั่วโลก โดยจะเริ่มมีผลในเวลา วันที่ 5 เม.ย.68
อีกทั้ง ยังประกาศใช้ “ภาษีต่างตอบแทน” (Reciprocal Tariff) ต่อประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอย่างรุนแรง โดยอิงจากอัตราภาษีที่ประเทศเหล่านั้นเคยเก็บกับสหรัฐฯ หนึ่งในประเทศที่ถูกกระทบหนักที่สุด คือ ประเทศไทย ซึ่งโดนตั้งกำแพงภาษีสูงถึง 36% ขณะที่กัมพูชา 49% , ลาว 48% ,เวียดนามโดน 46% และเมียนมา 44%
โดย บริษัท หลักทรัพย์ กรุง ไทย เอ็กซ์ สปริง จำกัด ระบุผ่านบทวิเคราะห์ว่า ประเทศไทยถูกขึ้นภาษี reciprocal tariff จากสหรัฐสูงถึง 36% เทียบกับจีน 34%, ยุโรป 20% และเวียดนาม อยู่ที่ 46%
ทั้งนี้ การขึ้นจะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ขึ้นอัตรา 10% กับทุกประเทศ เริ่มวันที่ 5 เม.ย และวันที่ 9 เม.ย จะขึ้นในส่วนที่เหลือตามอัตรา reciprocal tariff รายประเทศ (เช่นขึ้นอีก 26% กรณีไทย) เบื้องต้นคาดเป็นผลลบต่อ Sentiment ตลาดฯโดยเฉพาะหุ้นส่งออก และเป็นความเสี่ยงต่อการปรับลด GDP ปี 2568
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนักวิเคราะห์เชื่อว่าสหรัฐน่าจะยังเปิดช่องสำหรับการเจรจาจากการเว้นช่วงเวลาในการบังคับใช้ ขณะที่การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า จะส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเองด้วย
ขณะที่ ฝ่ายนักวิเคราะห์มีรายละเอียดผลกระทบรายหุ้น ที่รวบรวมมา ดังนี้ TU มีรายได้ในตลาดสหรัฐ ราว 40% (ผ่านธุรกิจทูน่ากระป๋อง, กุ้งและอาหารทะเลแช่แข็ง และ Petfood ) โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปสหรัฐราว 15% ในส่วนนี้อาจได้รับผลกระทบเชิงลบด้านความสามารถการแข่งขันจากอัตราภาษีที่เพิ่ม
ส่วน ITC อยู่ที่ 50% ของรายได้มาจากทวีปสหรัฐ อาทิ (สหรัฐ แคนนาดา บราซิลและประเทศอื่นๆ ) ส่วน AAI อยู่ที่ 52% ของรายได้มาจากสหรัฐ , STGT อยู่ที่ 20% ของรายได้มาจากสหรัฐ,
ทั้งนี้ฝ่ายนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ITC และ AAI อาจได้รับผลกระทบด้านการแข่งขันจากผู้ผลิตในสหรัฐฯที่เดิมต้นทุนสูงกว่าผู้ผลิตไทย ส่วน STGT อาจได้รับผลกระทบจากการที่คู่แข่งหลักอย่างมาเลเซียถูกขึ้นภาษีตํ่ากว่าไทย 12% นอกจากนี้ SAPPE มียอดขายส่งออกไปสหรัฐ อยู่ที่ 7%
บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบหลังสหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 36% จะกระทบต่อกลุ่มเกษตรอาหารมากสุด แม้ Semiconductor ได้รับการยกเว้น แต่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์บ้านเราอาจไม่เข้าข่าย
ทั้งนี้ บริษัทในกลุ่มอาหารที่มีการส่งออกไปสหรัฐนำโดย ITC อยู่ที่ 50% ของรายได้รวม, TU อยู่ที่ 30%, ASIAN อยู่ที่ 50%, AAI อยู่ที่ 67% จากสหรัฐและแคนนาดา
ขณะที่ RBF อาจถูกกระทบทางอ้อม จากเวียดนามที่โดนเก็บภาษีจากสหรัฐ 46% โดย RBF มีรายได้ในเวียดนามราว 5% ซึ่งเป็นการขาย good coating ให้ลูกค้าที่ทำธุรกิจกุ้งส่งออกบางส่วน เบื่องต้นคาดกระทบไม่เกิน 5%
ส่วน บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ ประเมิน SET แนวรับที่ 1,148 – 1,135 จุด แนวต้าน 1,180 จุด โดยดัชนีมีโอกาสปรับลดลง หลังถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีนําเข้าในอัตราที่สูงกว่าคาดการณ์ ซึ่งอาจส่งผลลบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไทยปีนี้มากกว่าระดับ 1% และยังต้องรอการเจรจาการค้ากับสหรัฐ เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว ทั้งนี้ แนะนําพักเงินในกลุ่มปลอดภัย อาทิ CPALL, BJC, BH, BDMS และ BCP