
“ดร.ปิยศักดิ์” มองสหรัฐขึ้นภาษีไทย 36% กด GDP ทรุด แนะ ธปท. ลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน
“ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์” มองสหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทย 36% เป็นแรงกดดัน GDP ทรุดตัว แนะแบงก์ชาติ ประชุมลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน พร้อมประสานนโยบายคลังพาณิชย์รับมือสงครามการค้า
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (3 เม.ย.68) ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด เปิดเผยในรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” ภายหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริก ประกาศขึ้น “ภาษีต่างตอบแทน” Reciprocal tariffs กับประเทศไทยในอัตรา 36%
โดยฝ่ายนักวิเคราะห์ประเมินว่า ตัวเลขดังกล่าวออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ ถือเป็นหนึ่งในระดับที่เลวร้ายที่สุด เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ เดิมทีนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอัตราดังกล่าวจะอยู่ที่ 16% แต่ตัวเลขที่ประกาศออกมากลับสูงถึง 36%
จากปัจจัยดังกล่าว มองว่าอาจต้องมีการปรับประมาณการ GDP ค่อนข้างแรง ซึ่งมาตรการของสหรัฐนั้น มีการจัดเก็บภาษีแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การเรียกเก็บภาษีอัตรา 10% จากทุกประเทศทั่วโลก และการเรียกเก็บภาษีแบบเฉพาะเจาะจงในแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทย เรียกเก็บภาษีในอัตรา 36% ยุโรป 20% และจีน 34% เป็นต้น
ดร.ปิยศักดิ์ มองว่า หลังจากนี้ไป 2-3 เดือนข้างหน้า ประเทศต่างๆ อาจมีการเจรจากับสหรัฐฯ โดยฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะมี 2 รูป แบบ คือ แนวทางแรก เจรจาเพื่อลดอัตราภาษีนำเข้า โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบอาจขอให้สหรัฐฯ พิจารณาปรับลดภาษีที่เรียกเก็บลง พร้อมเสนอเงื่อนไขแลกเปลี่ยน เช่น การปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ตนเองเคยเรียกเก็บ
สำหรับประเทศไทย อาจต้องเร่งดำเนินการเจรจากับสหรัฐฯ โดยเสนอให้ยกเลิกมาตรการภาษีนำเข้าที่เคยกำหนดไว้กับสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯ พิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยตัวอย่างเช่น ไทยเคยเรียกเก็บภาษีนำเข้า สินค้าเกษตร จากสหรัฐฯ อัตรา 40% รถยนต์ อัตรา 80-100% และเนื้อสัตว์-เนื้อหมู บางประเภท อัตรา 30-40%
นอกจากนี้ ไทยยังมีมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measure) และหากไทยต้องการให้สหรัฐฯ พิจารณาปรับลดอัตราภาษีนำเข้า ที่เรียกเก็บจากไทยอัตรา 36% อาจจำเป็นต้องยกเลิกมาตรการเหล่านี้ ทั้งหมด
ในกรณีที่การเจรจาเพื่อปรับลดอัตราภาษีนำเข้าไม่ประสบผลสำเร็จ จะนำไปสู่แนวทางที่ 2 คือ ประเทศที่ได้รับผลกระทบอาจต้องพิจารณาทางเลือกอื่น นั่นคือ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น สินค้าประเภท ข้าวโพด และ ถั่วเหลือง
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เม.ย.68 กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงพลังงาน, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และธนาคารแห่งประเทศไทย จัดการแถลงข่าวเพื่อสื่อสารแนวทางเตรียมความพร้อมของไทยต่อมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งทางฝั่ง หอการค้าไทย ได้เสนอแนวทางการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 3-4 รายการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจช่วยลดทนต่อนโยบายภาษีของสหรัฐได้
ทั้งนี้ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาดการณ์ว่า แม้ไทยจะดำเนินมาตรการเพื่อลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าทั้งหมด แต่อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บจากไทยยังคงอยู่ที่ประมาณ 10% ซึ่งเป็นอัตราพื้นฐานที่ใช้กับทุกประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีจากไทยในอัตรา 10% แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวประมาณ 3.6% เดิมฝ่ายนักวิเคราะห์คาดว่า GDP ไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 2.5% มาตรการภาษีดังกล่าวอาจทำให้ตัวเลขการเติบโตลดลงเหลือเพียง 1.7%
หากพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณีหลัก กรณีแรก หากไทยเจรจาสหรัฐฯสำเร็จ โดยลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าที่เคยเรียกเก็บจากสินค้าสหรัฐฯ รวมถึงเพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ และสหรัฐฯ พึงพอใจมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ไทยถูกเรียกเก็บภาษีเพียง 10% ซึ่งเป็นอัตราพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม อย่างที่กล่าวไปข้างต้น แม้ในกรณีเก็บเพียง 10% ก็ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยคาดว่า GDP ไทยในปีนี้จะชะลอตัว เหลือเพียง 1.7% ขณะที่ ภาคการส่งออก ซึ่งเดิมทีคาดว่าจะหดตัว 1% อาจติดลบมากขึ้นเป็น 3%
ขณะเดียวกัน หากไทยดำเนินการเจรจาช้าและไม่สามารถตกลงกับสหรัฐฯ ได้ โดยยังคงมาตรการภาษีอยู่ เช่น การเก็บภาษีจากไทยในอัตรา 36% ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะรุนแรงมากขึ้น คาดว่า GDP ของไทยในปีนี้อาจหดตัวลงถึง -1.1% ส่วนภาคส่งออกอาจติดลบ 5% และเงินเฟ้อไทยอาจปรับตัวขึ้น 1.5%
อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงการเจรจาเพื่อสร้างความร่วมมือ ทางการเมือง หรือ ยุทธศาสตร์ ฝ่ายนักวิเคราะห์มองว่า อาจช่วยลดผลกระทบทางด้านภาษีได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่มีความสำคัญในระดับยุทธศาสตร์สูงเท่ากับบางประเทศ แม้ว่าไทยจะมีความสำคัญใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สหรัฐฯ อาจมองว่าประเทศอื่น ๆ ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากกว่า เช่น เวียดนาม ซึ่งแม้เวียดนามจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 46% ก็ยังได้รับความสนใจจากสหรัฐฯ มากกว่า
ทั้งนี้ ฝ่ายนักวิเคราะห์มองว่า มีหนึ่งแนวทางในการตอบโต้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ คือ การหลีกเลี่ยงการค้ากับสหรัฐฯ โดยการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ผ่านการทำข้อตกลงเขต การค้าเสรี (FTA) ให้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น การเพิ่มความร่วมมือกับประเทศในยุโรปและภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อขยายตลาดการค้าและลดการพึ่งพาการค้ากับสหรัฐฯ และหากทำได้จริง การค้าทั่วโลกอาจลดลงประมาณ 30% ในปีนี้ อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ปีข้างหน้า คาดว่าภาพรวมของการค้าระหว่างประเทศจะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง
ขณะที่ ฝ่ายนักวิเคราะห์ได้มีการพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับเหตุผลที่ประเทศไทย เรียกเก็บภาษีสหรัฐฯในอัตราที่สูง โดยได้รับคำตอบว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ขณะนั้นมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้บริษัทต่างชาติมาตั้งฐานการผลิตในประเทศ เช่น Ford First ซึ่งในที่สุดก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฝ่ายนักวิเคราะห์มองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรจัดการประชุมฉุกเฉินและพิจารณาการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยยังคงเชื่อว่า ธปท. รับรู้ถึงสถานการณ์สงครามการค้าที่มีความรุนแรง เนื่องจากในการประชุมล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากสงครามการค้า” ดร.ปิยศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ธปท. ยังคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า หากการขึ้นภาษีอยู่ในระดับ 6-10% ผลกระทบต่อ GDP หดตัวประมาณ 0.5% ซึ่งอัตราการคำนวณของ ธปท. ใกล้เคียงกับการประเมินของฝ่ายนักวิเคราะห์ที่คาดว่า สหรัฐฯ อาจปรับขึ้นภาษีจากไทยในระดับประมาณ 5%
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า ธปท. กระทรวงการคลัง และ กระทรวงพาณิชย์ ควรมีการประสานงานกันในการดำเนินนโยบายด้านตลาดเงิน ตลาดทุน โดยในด้านการเงิน ธปท. ควรพิจารณาการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร่งด่วน และออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่าพร้อมที่จะดูแลเศรษฐกิจ
ในส่วนของ กระทรวงการคลัง ควรออกนโยบายที่ชัดเจนในการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อช่วยลดภาระและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ ส่วน กระทรวงพาณิชย์ ควรเร่งดำเนินการเจรจาอย่างเร่งด่วน เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาการค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้จากการคาดการณ์ในกรณีที่ GDP ติดลบ ยังไม่ได้มีการคำนวณผลกระทบจากโครงการ Entertainment Complex เนื่องจากมองว่าโครงการนี้อาจใช้เวลานานกว่าจะเริ่มเห็นผล
ในขณะเดียวกัน นโยบาย Digital Wallet แทบจะไม่มีผลกระทบต่อ GDP ซึ่งไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมา เป็นรอบแรกของการดำเนินนโยบายดังกล่าว พบว่าไม่สามารถกระตุ้นการเติบโตของ GDP
ดังนั้น ฝ่ายนักวิเคราะห์มองว่า สิ่งที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริง ๆ คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หากมีการประกาศลงทุนประมาณ 4 ล้านล้านบาทในช่วง 5 ปี และในแต่ละปี การลงทุนดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ประมาณ 2% ซึ่งจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.5% อาจเพิ่มขึ้นเป็น 4.5% สุดท้ายนี้ ในมุมมองของฝ่ายนักวิเคราะห์ อยากให้เน้นการลงทุนในจุดที่เป็นการลงทุนจริง ๆ ที่สามารถสร้างผลลัพธ์ในการเพิ่มการผลิตได้มากขึ้น