
BKA เคาะราคาไอพีโอ 1.80 บาท เปิดจอง 8-10 เม.ย.นี้ ระดมทุนเทรด mai
BKA เคาะราคาเสนอขายไอพีโอที่ 1.80 บาทต่อหุ้น ถือหุ้นใหญ่พร้อมใจ “ล็อกอัพ 87%” สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เปิดจองซื้อวันที่ 8-10 เม.ย.68 ดีเดย์เทรดตลาด mai วันที่ 22 เม.ย.68 ตอกย้ำการเป็นผู้นำธุรกิจบริการซื้อ-ขายบ้านมือสองตกแต่งใหม่ครบวงจร
นายพชร ธนวงศ์เกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BKA เปิดเผยว่า ผู้นำธุรกิจบริการซื้อขายบ้านมือสองตกแต่งใหม่ เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 60 ล้านหุ้น ราคาพาร์ หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 28.57 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขาย IPO ในครั้งนี้
โดยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดธุรกิจ เพราะนอกจากสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจแล้วยังสร้างอัตราการเติบโตในอนาคตให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
สำหรับเม็ดเงินที่ BKA จะได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทจะนำไปขยายพอร์ตการให้บริการบ้านแต่ง (Flipping) เพิ่มขึ้น รวมถึงนำไปพัฒนาธุรกิจ Property Technology (Prop Tech) โดยสร้าง Platform ตัวกลางในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้บริษัท สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งผู้ต้องการซื้อและขายบ้านได้หลากหลายเพิ่มมากขึ้น จากการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการค้นหาข้อมูลให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน และเทคโนโลยีระบบเสมือนจริง (Virtual Reality) มาใช้ในการแนะนำบ้านให้กับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านได้เห็นภาพบ้านเสมือนจริงทางออนไลน์ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตให้กับบริษัท อย่างมีนัยสำคัญ
จากความโดดเด่นในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการปรับปรุงบ้านมือสองเพื่อขาย (ธุรกิจบ้านแต่ง “Flipping”) ซึ่งเป็นการรับฝากขายบ้านมือสองพร้อมกับการปรับปรุงก่อนขาย เพื่อให้มีสภาพใหม่พร้อมอยู่อาศัย พร้อมรับประกันผลงานและให้บริการหลังการขาย ธุรกิจนายหน้าซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการรับฝากขาย บ้านมือสอง (ธุรกิจบ้านฝาก) และธุรกิจซื้อบ้านมือสองมาปรับปรุงเพื่อขาย (ธุรกิจบ้านตัด) สามารถตอบโจทย์ความเป็น “บางกอก แอสเซท ที่หนึ่งเรื่องบ้านมือสอง” ได้อย่างครบทุกมิติ บนพื้นฐานความได้เปรียบกว่าบ้านมือหนึ่งบนทำเลเดียวกัน ราคาที่คุ้มค่ากว่าและพื้นที่ใช้สอยที่มากกว่า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวผลักดันให้ BKA เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ล่าสุดบริษัทแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน พร้อมทั้งผู้จัดจำหน่าย อีก 5 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ จำกัด เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้
ทั้งนี้เพื่อแสดงออกถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ก่อตั้งบริษัท กลุ่มครอบครัว ธนวงศ์เกษม และนายภัคพล เพ็ชร์แย้ม ที่ถือหุ้นรวมกัน 87% ของทุนชำระแล้วก่อน IPO หรือคิดเป็น 62.14% ของทุนชำระแล้วหลัง IPO นอกจากจะนำหุ้นติด Silent Period ตามหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดห้ามขายหุ้นในสัดส่วน 55% ของทุนชำระแล้วหลัง IPO เป็นระยะเวลา 1 ปี แล้ว หุ้นที่เหลือส่วนที่ไม่ติด Silent Period ตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 15 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 7.14% ของทุนชำระแล้วหลัง IPO จะถูกห้ามขายโดยสมัครใจ (Voluntary IPO Lock Up) เป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่เริ่มทำการซื้อขายหุ้นของบริษัท ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ส่งผลให้มีหุ้นเดิมที่ถือโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่พร้อมใจกันงดการเสนอขาย หรือโอนด้วยวิธีการใดๆ นับแต่วันที่หุ้นเริ่มซื้อขาย (Lock-Up) ทั้งหมด 87% เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน
นางสาวออมสิน ศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ของ BKA เปิดเผยว่า บริษัท ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของ BKA จำนวน 60 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1.80 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E) ที่ 10 เท่า คำนวณจากกำไรสุทธิของบริษัท ในปี 2567 และจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วของบริษัทภายหลัง IPO (Fully Diluted) การกำหนดราคา IPO ดังกล่าว มีส่วนลดให้นักลงทุนในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะของตลาดหุ้นในปัจจุบัน และปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง สามารถทำกำไรที่เติบโตเพิ่มขึ้น โดยจะเปิดจองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2568 และเตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 22 เมษายน 2568 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “BKA” ในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เชื่อว่าหุ้น BKA จะได้การตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เนื่องจากธุรกิจบ้านมือสองยังมีดีมานด์การเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับ BKA เป็นผู้นำธุรกิจบริการซื้อขายบ้านมือสองตกแต่งใหม่ โดยดำเนินธุรกิจให้บริการปรับปรุงบ้านมือสองเพื่อขาย (“ธุรกิจบ้านแต่ง” หรือ “Flipping”)
รวมถึงธุรกิจนายหน้าซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการรับฝากขายบ้านมือสอง (“ธุรกิจบ้านฝาก”) และธุรกิจซื้อบ้านมือสองมาปรับปรุงเพื่อขาย (“ธุรกิจบ้านตัด”) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการซื้อ-ขายบ้านมือสองที่ครอบคลุมทุกมิติ และด้วยความเชี่ยวชาญของผู้บริหาร รวมถึงประสบการณ์ในธุรกิจกว่า 12 ปี ทำให้ BKA เป็นที่หนึ่งเรื่องบ้านมือสอง ซึ่งมั่นใจว่า BKA จะเป็นหุ้นน้องใหม่ที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งที่จะสร้างโอกาสการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต
ด้านนางนิสาภรณ์ ฤกษ์อร่าม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวเสริมถึงความน่าสนใจของ BKA ว่า ด้วยศักยภาพการเป็นผู้นำธุรกิจบริการซื้อขายบ้านมือสองตกแต่งใหม่ ที่มีความได้เปรียบทั้งด้านทำเล ราคาที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับบ้านโครงการใหม่ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของผู้หาซื้อบ้าน
ขณะที่ Model ธุรกิจบ้านแต่ง (Flipping) เป็นการวางเงินประกัน ปรับปรุง และขายบ้าน โดยไม่ต้องลงทุนซื้อบ้านทั้งหลัง ทำให้ประหยัดเงินลงทุน ซึ่งให้ผลตอบแทนสูง นอกจากนี้มองว่า ตลาดบ้านมือสองยังมีศักยภาพการเติบโต โดยเห็นได้จาก สถาบันการเงินและ AMC มีทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ที่ค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก ซึ่งเป็นสินค้าบ้านมือสองทำเลดี ราคาคุ้มค่าต่อการลงทุน และที่สำคัญ BKA
ผู้ให้บริการซื้อ-ขายบ้านมือสอง ที่มีจำนวนบ้านมือสองตกแต่งใหม่พร้อมขายจำนวนมาก โดยให้บริการปรับปรุงและขายบ้านมือสอง ซึ่งมีรายได้กระจายไปในบ้านแต่ง บ้านฝาก และบ้านตัด หลายโครงการในทำเลที่ดี โดยไม่ได้ Focus ไปที่โครงการใดโครงการหนึ่ง
ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในธุรกิจของผู้บริหารมาเป็นระยะเวลากว่า 12 ปี ยิ่งตอกย้ำศักยภาพความน่าเชื่อถือในการสร้างโอกาสการเติบโตให้กับบริษัท ดังนั้นจากปัจจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานการเติบโตในธุรกิจของบริษัท โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2565-2567 โดยในปี 2565 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,302.92 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 1.65 ถัดมาในปี 2566 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,313.59 ล้านบาท เป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 1.70 และในปี 2567 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,142.46 ล้านบาท เท่ากับร้อยละ 3.22
ขณะที่มีกำไรสุทธิในปี 2565-2567 โดยในปี 2565 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 21.44 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 1.65, และในปี 2566 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 22.27 ล้านบาท ร้อยละ 1.70 ถัดมาในปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 36.82 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 3.22