ช.การช่าง ของถูกที่ไม่ควรมองข้าม

ในสภาวะที่สินค้าในตลาดหุ้นไทยราคาถูกเช่นทุกวันนี้ ราคาหุ้น CK บนกระดาน เปรียบเทียบกับ LSEG Consensus และ IAA Consensus พบว่ายังมีอัพไซด์อีกมาก


เส้นทางนักลงทุน

ในสภาวะที่สินค้าในตลาดหุ้นไทยราคาถูกเช่นทุกวันนี้ หากมองไปที่ราคาหุ้นของบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK บนกระดาน เปรียบเทียบกับ LSEG Consensus และ IAA Consensus พบว่ายังมีอัพไซด์อีกมาก ซึ่งในสถานการณ์ตลาดหุ้นแย่ “ของดี” ไม่ควรถูกมองข้าม

LSEG Consensus คาดการณ์รายได้รวมปี 2568 ของ CK ไว้ที่ 40,400.13 ล้านบาท ขณะที่ประมาณการกำไรสุทธิที่ 1,899.01 ล้านบาท ให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ยในปีนี้ไว้ที่ 22.26 บาท จากโบรกเกอร์จำนวนทั้งสิ้น 9 ราย ส่วน IAA Consensus ให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 20.92 บาท จากโบรกเกอร์จำนวนทั้งสิ้น 13 ราย

CK เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรับงานจากหน่วยงานราชการ, รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่มีรายได้ที่มั่นคงจากงานในมือรอโอน หรือ Backlog ขนาดใหญ่มากกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งยังมีศักยภาพในการรับงานจากโครงการภาครัฐใหม่ ๆ ทำให้ Backlog เติบโตมากขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ ได้จัดโรดโชว์ CK โดยเปิดโอกาสให้ผู้บริหารได้ให้ข้อมูลกับกองทุนในประเทศ พบว่ามีสัญญาณเชิงบวกต่อแนวโน้ม Backlog ที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของ CK ซึ่งช่วยให้มั่นใจถึงการเติบโตของรายได้และกำไรในปี 2568

นอกจากนี้ Backlog ระดับสูงจะช่วยรับประกันกระแสรายได้ของ CK ในอีกหลายปีข้างหน้า โดยมีตัวช่วยหนุนเพิ่มเติมจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน รวมทั้งยังมีโครงการที่มีศักยภาพจำนวนมากจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และภาครัฐที่จะช่วยเพิ่มการเติบโตในระยะยาว

รวมถึงโครงการทางด่วนสองชั้น (Double Deck) มูลค่า 35,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามสัญญาในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 และงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (M&E) สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มูลค่า 27,000 ล้านบาท คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2569

CK มีโอกาสได้งานเพิ่มเพราะยังมีหลายโครงการที่คาดว่าจะเปิดประมูลในปีนี้ เช่น รถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 (โคราช-หนองคาย) มูลค่า 235,000 ล้านบาท, รางคู่ (ชิรา-อุบลราชธานี) มูลค่า 36,000 ล้านบาท, ทางหลวงพิเศษ (M9, M5), ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง และการขยายสนามบิน (ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ และเชียงใหม่)

ในปี 2568 ผู้บริหารตั้งเป้าหมายรายได้จากการก่อสร้างจะอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37,500 ล้านบาท จากปีก่อน ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น (GMP) ยังคงอยู่ในช่วง 7-8% โดยรายได้หลักจะมาจากโครงการหลวงพระบาง, โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้, รางคู่ (เด่นชัย) และรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลและงานโยธา) ด้านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) อาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยคาดว่าจะคงที่

มีมุมมองที่ดีต่อส่วนแบ่งกำไรจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP) ว่าควรจะเติบโตต่อไป ขณะที่บริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด (LPCL) ซึ่งกำไรมักจะผันผวนเนื่องจากผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐ ไม่ควรส่งผลกระทบอย่างมีนัยสาคัญต่อกำไรของ CK หลังจากการขายหุ้น 10% ให้กับบริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) (TTW) เสร็จสิ้น มีผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของ CK จาก 20% เหลือ 10% ดังกล่าว

คาดว่าจะมีการเข้าลงนามในสัญญาในการโอนหุ้นกับ CK ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนปีนี้ ภายหลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 10 เมษายน 2568 ซึ่งคาดว่าการทำธุรกรรมควรเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2-3 ปีนี้ และ CK ควรบันทึกกำไรบางส่วนจากการขายกิจการนี้ ซึ่งจะทำให้ CK มีความผันผวนน้อยลง และส่งผลให้มีความต้องการเงินเพิ่มทุนสำหรับ LPCL น้อยลง นอกจากนี้ CK จะใช้เงินที่ได้จากการขายนี้สำหรับการเพิ่มทุนในอนาคต และการชำระหนี้ของ LPCL

นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ถึงปัจจุบัน (31 มีนาคม 2568) ราคาหุ้น CK ปรับตัวลดลง 28.12% ค่า P/E ลดเหลือ 16.06 เท่า ส่วน P/BV อยู่ที่ 0.90 เท่า เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนที่ 18.27 เท่า และ 1.20 เท่า ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาจากราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวในขณะนี้กับ Backlog ที่สูงเป็นประวัติการณ์ ตลอดจนความพร้อมในการรับงานโครงการที่มีศักยภาพได้อีกจำนวนมาก ซึ่งเท่ากับโอกาสในการเติบโต

ทรัพยากรที่มีอยู่ของบริษัทฯ เพียงพอที่จะสร้างรายได้จากการก่อสร้างประจำปีราว 50,000-55,000 ล้านบาท ดังนั้นการเติบโตของกำไรของ CK ก็น่าจะดีด้วยเช่นกัน

Back to top button