
ฉลุย! “ดีอี” ดัน 2 พ.ร.ก. ปราบโจรออนไลน์-คุมเข้มสินทรัพย์ดิจิทัล
กระทรวงดีอี ดัน ร่าง พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ และ ร่าง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ สร้างประโยชน์ 5 มิติ เพื่อปราบมิจฉาชีพออนไลน์ พร้อมเสริมความปลอดภัยด้านดิจิทัลแก่ประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ ( 8 เม.ย.68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณาร่างแล้วนั้น จะมีผลบังคับใช้ทันที ในวัดถัดไปหลังจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับนี้ หากมีผลบังคับใช้จะช่วยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้บริการโทรศัพท์หรือโทรคมนาคม การทำธุรกรรมด้านการเงิน และในกรณีที่ประชาชนเป็นผู้เสียหายจะได้รับการช่วยเหลือและติดตามเส้นทางการเงินเพื่อนำเงินมาคืนได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้หน่วยงานของเอกชนมีส่วนร่วมรับผิดในความเสียหาย โดยมีการกำหนดมาตรฐานหรือมาตรการที่เกี่ยวข้องโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการควบคุมกำกับดูแล ทำให้หน่วยงานของเอกชนเกิดความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่และเป็นมาตรการที่จะช่วยเยียวยาผู้เสียหายได้ โดยครอบคลุมผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนใน 5 มิติ ได้แก่
1.มิติการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ช่วยยับยั้งการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีของมิจฉาชีพ โดยการสกัดช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ในการก่ออาชญากรรม เช่น การใช้ซิมผี บัญชีม้า การส่ง SMS แนบลิงก์ ฯลฯ
2.มิติการบูรณาการร่วมกัน โดยกระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันบูรณาการกำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามฯ อาทิ มาตรการการบูรณาการเชื่อมต่อข้อมูลของศูนย์ AOC ธนาคาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กสทช. ปปง. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ฯลฯ
3.มาตรการบังคับทางกฎหมาย เพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยร่าง พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับ มีมาตรการทางกฎหมายที่ครอบคลุมการบังคับใช้ เพิ่มบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
4.มิติการยับยั้งความเสียหาย การกำหนดมาตรการการมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ซึ่งจะเป็นผลสกัดช่องทางการสร้างความเสียหายให้กับประชาชน พร้อมทั้งทำให้เกิดการป้องกันการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่รัดกุม ซึ่งที่ผ่านมาสามารถลดมูลค่าความเสียหายได้อย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง
5.มิติการเยียวยา ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ มีเนื้อหาสาระสำคัญที่กำหนดให้มีการเยียวยาประชาชนผู้เสียหาย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการกระทำของมิจฉาชีพ โดยกำหนดให้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดวิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชน
สำหรับ สาระสำคัญของ ร่าง พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีดังนี้
1.แก้ไขเพิ่มเติมคำนิยามที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ คำว่า “ผู้ประกอบธุรกิจ” เพื่อให้มีความหมายรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมาย ว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และคำว่า “กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล” และ “บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์”
2.กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูล เลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการแจ้งรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการเพิกถอนข้อมูลดังกล่าว รวมทั้งมาตรการที่ต้องดำเนินการ ให้ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอท.) ทำหน้าที่บูรณาการด้านข้อมูลรับทราบ
3.ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง และผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะกรณีการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และบริการโทรคมนาคม กำหนดให้ผู้ให้บริการ มีหน้าที่ตรวจสอบเพื่อคัดกรองเนื้อหาการบริการ SMS ที่อาจเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตามมาตรฐานหรือมาตรการที่ กสทช. กำหนด
4.มาตรการด้านการระงับการให้บริการโทรคมนาคม เมื่อพบการกระทำความผิด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งให้ กสทช. สั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น หรือ ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง ระงับการให้บริการโทรคมนาคมได้ทันที และหากกรณียกเลิกการระงับการให้บริการดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด
5.เมื่อปรากฏว่ามีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการปิดกั้นข้อมูลได้ทันที
6.การคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย ให้ ปปง. เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดรายละเอียดขั้นตอน รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในกฎกระทรวง และกรณีที่ไม่มีผู้เสียหายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมายื่นคำร้องภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ครบกำหนด หรือมีเงินที่เหลือภายหลังจากได้คืนเงินแก่ผู้เสียหายแล้ว ให้เงินดังกล่าวตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แต่ไม่ตัดสิทธิเจ้าของเงินหรือเจ้าของบัญชีที่จะขอรับเงินคืนจากกองทุนฯ ดังกล่าว
7.ยกระดับศูนย์ AOC เป็น ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอท.) กำหนดหน้าที่และอำนาจเป็นศูนย์ปฏิบัติการ (Operation Center) ที่สามารถบริหารจัดการกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ ลดการเกิดความเสียหายในวงกว้าง รวมทั้งติดตามเส้นทางการเงินเพื่อนำมาคืนผู้เสียหายได้โดยเร็ว และมีประสิทธิภาพ
8.กำหนดให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ หรือให้ผู้บริการอื่นที่เกี่ยวร่วมรับผิดในความเสียหาย สำหรับการมีส่วนร่วมรับผิดในความเสียหายนั้น ศาลจะเป็นผู้พิจารณาเพื่อกำหนดค่าเสียหายที่ต้องรับผิด ขณะที่ภาระการพิสูจน์ความเสียหายเพื่อไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นเป็นของหน่วยงานเอกชนนั้นๆ
9.บทกำหนดโทษ เพื่อให้มีมาตรการบังคับตามกฎหมาย หากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติ
1.) กรณีที่ผู้กระทำผิดซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงินและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นนิติบุคคล แก้ไขโทษเป็นโทษปรับ และเพิ่มบทกำหนดโทษกรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลต้องรับผิดโดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งกำหนดอัตราโทษปรับกรณีกระทำผิดเป็น 5 เท่าของโทษปรับกรณีผู้แทนนิติบุคคลกระทำความผิด เนื่องจากสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการธุรกิจซึ่งเป็นนิติบุคคลต้องมีความรับผิดที่มากกว่าผู้แทนนิติบุคคลซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา
2.) กำหนดโทษกรณีที่มีผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งให้ระงับการให้แพร่หลายข้อมูลคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
3.) กำหนดโทษกรณีที่ผู้ซื้อเลขหมายโทรศัพท์หรือผู้ขายเลขหมายโทรศัพท์ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการลงทะเบียนให้แก่ผู้ใช้บริการ ลงทะเบียนไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้นำเลขหมายโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไม่ถูกต้อง ไปเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด
4.) กำหนดโทษกรณีที่ผู้ใด นำเอาข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือผู้ถึงแก่กรรม มาใช้เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด และต้องระวางโทษหนักขึ้น หากกระทำโดยซื้อ เสนอซื้อ ขาย เสนอขาย แลกเปลี่ยน เสนอแลกเปลี่ยน หรือแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ในส่วนของร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักรแต่ให้บริการบุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรต้องได้รับอนุญาตตามมาตรา 26 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 และหากประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตจะต้องรับโทษอาญาตามมาตรา 66 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.) การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักร ต้องได้รับอนุญาตตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ ให้รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักรแต่ให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรด้วย เพื่อกำกับและควบคุมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว และเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการนำเงินที่ได้จากการหลอกลวงประชาชนไปซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร
2.) การกำหนดลักษณะที่ให้ถือว่าเป็นการให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร กรณีที่ประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักรแต่ให้ถือว่าเป็นการให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งจะทำให้ทราบว่าผู้ประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักรตามลักษณะที่กำหนดจะต้องได้รับอนุญาต