
ตลท. ชี้ SET มี.ค. ปรับลง 3.8% เซ่นแผ่นดินไหว-เทรดวอร์ ชู “Jump+” ดัน บจ. รับมืออนาคต
ตลาดหลักทรัพย์ ชี้ SET เดือนมี.ค.68 ปรับตัวลด 3.8% จากเดือนก่อนหน้า เผชิญแผ่นดินไหวสงครามการค้าขณะที่ อุตสาหกรรม 5 กลุ่ม แกร่งกว่าตลาดสำหรับปี 67 คือ กลุ่มการเงิน-กลุ่มทรัพยากร-กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค-กลุ่มเกษตรและอาหารและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ฟาก “อัสสเดช” ชูโครงการ “Jump+” จุดเปลี่ยน “บจ.” ปรับตัวสู่อนาคต
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ณ เดือนมีนาคม 2568 SET Index ปิดที่ 1,158.09 จุด ปรับลดลง 3.8% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2568 SET Index ปรับลดลง 17.3% ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2567 ได้แก่ กลุ่มการเงิน กลุ่มทรัพยากร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอาหาร และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 4.24% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.34%
โดยเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ผลกระทบจากเหตุการณ์ แผ่นดินไหว ส่งผลต่อ กลุ่มขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ ประกันภัย และรับเหมา ทำให้ผู้ลงทุนมีความกังวลว่าอาจมี บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในกลุ่มดังกล่าว อาจได้รับผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ แต่หากพิจารณาจากอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ พบว่า บจ. ยังมีความเข้มแข็งและน่าจะสามารถผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปได้
ขณะที่ SET Index ช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก ทำให้ Valuation ของหลักทรัพย์อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ดังนั้น เริ่มเห็นสัญญาณ บจ. ไทยเข้ามาช่วยหนุนมูลค่าบริษัทของตัวเองโดยการเข้ามา ซื้อหุ้นคืน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน ขณะที่ Value Stock เริ่มมี downside ที่จำกัด
ส่วนมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมของ SET และ mai อยู่ที่ 38,491 ล้านบาท หรือลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วงไตรมาส 1/2568 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันรวมฯ อยู่ที่ 42,826 ล้านบาท ลดลง 6.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 21,852 ล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2568 ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 39,978 ล้านบาท
ขณะเดียวกันนี้ ข้อมูล ล่าสุด ณ วันที่ 8 เมษายน 2568 SET Index ปิดที่ 1,074.59 จุด ลดลง 4.50% มูลค่าการซื้อขายรวม 66,714 ล้านบาท สะท้อนแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากความวิตกต่อมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ 9 เมษายน 2568 โดยนับตั้งแต่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศนโยบาย “Liberation Day” SET Index ปรับลดลง 8.4% สอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค
ด้าน นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลท. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงนี้ ตลท. มีแผนในการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ โดยจะขอยกตัวอย่างมาตรการ Ceiling & Floor สำหรับทั้ง SET, mai และ TFEX ใหม่เป็น 15% จากเดิม 30% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2568 และจะใช้จนถึงวันที่ 11 เมษายน 2568 ซึ่งมาตรการนี้ ต้องมีการพิจารณาอีกครั้งนึงว่าจะขยายเวลาเพิ่มเติมหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทาง ตลท. และ กระทรวงการคลัง ได้มีการหารือถึงมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยฟื้นตลาดทุนไทย ซึ่งช่วงเวลานี้ อาจเป็นจังหวะที่ดี เนื่องจากอีกประมาณ 2 สัปดาห์ข้างหน้า นักลงทุนสามารถเริ่มลงทุนใน กองทุน Thai ESG Extra (Thai ESGX) ได้แล้ว เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แม้มาตรการนี้ จะไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับสถานการณ์ปัจจุบันโดยตรง แต่ก็อาจมีส่วนช่วยดึงดูดเงินลงทุนใหม่เข้าสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายนนี้
“ส่วนกองทุนวายุภักษ์ก็ยังมีกำลังซื้อ เท่าที่ได้พูดคุยกับคุณชวินดา ท่านยืนยันว่ายังมีศักยภาพในการเข้าซื้ออยู่พอสมควรดังนั้น หากมองจากภาพรวม จะเห็นว่ามาตรการที่ต่างประเทศเพิ่งทยอยออกมา ในความเป็นจริงไทยเองได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้วบางส่วน และครอบคลุมหรือรองรับสถานการณ์ได้อยู่ในระดับหนึ่ง” นายอัสสเดช กล่าว
ส่วนประเด็น มีความกังวลต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนจะปรับตัวลดลงจากสถานการณ์ สงครามการค้า หรือไม่นั้น ทีมวิเคราะห์ของเราประเมินว่า รายได้ของ บจ. ที่มาจากตลาดสหรัฐอเมริกาโดยตรง คิดเป็นเพียงประมาณ 2% ของรายได้รวมทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางอ้อมเป็นสิ่งที่ประเมินได้ยาก เช่น ผลกระทบจากฝั่งยุโรป หรือประเทศที่ได้รับผลกระทบทางการค้าต่ำกว่าเรา อาจทำให้พวกเขาได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้า
ขณะที่ หากถามถึงความคืบหน้าการดำเนินการ Jump+ ยังคงดำเนินตามกำหนดการที่วางไว้ เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มต้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นแรงผลักดันให้ บจ. ต้องกลับมาทบทวนและวิเคราะห์ศักยภาพการแข่งขันของตนเอง เพื่อให้สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทของ ตลาดโลก
ตัวอย่างหนึ่งของการสนับสนุนเชิงโครงสร้าง คือ การได้รับอนุมัติงบประมาณสนับสนุนจาก กองทุน CMDF เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งงบประมาณส่วนนี้มีมูลค่าค่อนข้างมาก วัตถุประสงค์เพื่อช่วย บจ. วิเคราะห์ศักยภาพทางการเงินและการแข่งขัน วิเคราะห์ศักยภาพทางการเงินและการแข่งขัน และ การจ้างที่ปรึกษาภายนอก อาจเป็นด้านการเงิน เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาองค์กร รวมไปถึงเงินสนับสนุนแผนงาน – เมื่อบริษัทมีแผนที่ชัดเจน ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดแล้ว
สุดท้ายนี้ จุดที่จะเป็น Turning point ถือได้ว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย และตลาดสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ จากคำให้สัมภาษณ์ของรองนายกรัฐมนตรีที่แถลงข่าวเมื่อวานนี้ ท่านได้สะท้อนแนวคิดและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มุ่งเน้นความร่วมมือและผลลัพธ์แบบ win-win
ในอีกมุมหนึ่ง วิกฤตในแต่ละครั้งย่อมนำมาซึ่งแรงกดดันที่ผลักดันให้เราต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับโครงการ Jump+ ที่กำลังจะเริ่มต้นในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งกลายเป็นโครงการที่มีความสำคัญจากการที่ บจ. ต้องกลับมาวิเคราะห์ตัวเองอย่างลึกซึ้งว่า จะรักษาหรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างไรในสภาพแวดล้อมใหม่นี้ เป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้นกว่าเดิม Jump+ จึงไม่ได้เป็นเพียงมาตรการกระตุ้นสร้างแรงดึงดูดต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้หันกลับมาให้ความสนใจตลาดทุนไทยในระยะยาวด้วยเช่นกัน