STECON-UNIQ กอดคอวิ่ง! รับชนะคดี “รฟท.” จ่ายค่าโง่สายสีแดง 4 พันล้าน

STECON-UNIQ กอดคอวิ่ง! รับศาลปกครองกลาง! สั่ง “รฟท.” จ่ายค่าโง่สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1 กว่า 4,200 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัด 7.305% จบภายใน 60 วัน ยืนตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ขณะที่ศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำอุทธรณ์ คดีจึงเป็นอันถึงที่สุด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(11เม.ย.68) ราคาหุ้นบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ  ณ เวลา 11:05 น. อยู่ที่ระดับ 1.87 บาท บวก 0.24 บาท หรือ 14.72% ราคาสูงสุด 1.87 บาท ราคาต่ำสุด 1.66 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 6.01 ล้านบาท

ด้านบริษัท สเตคอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ STECON ณ เวลา 11:08 น. อยู่ที่ระดับ 6.80 บาท บวก 0.05 บาท หรือ 0.074% ราคาสูงสุด 6.90 บาท ราคาต่ำสุด 6.70 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 19.81 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (10 เม.ย.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. (ผู้คัดค้าน) ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 79/2564 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 79/2565 ลงวันที่ 21 พ.ย. 2565 ที่กำหนดให้รฟท.ต้องชำระค่าสินจ้างโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1 ตามสัญญาเลขที่ กส.01/รฟฟ./2556 ลงวันที่ 18 ม.ค. 2556 และตามคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (Variation Orders) พร้อมทั้งดอกเบี้ยผิดนัดและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ผู้ร้องที่ 1 บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องที่ 2 (ปัจจุบันคือบริษัท สเตคอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ STECON)

เนื่องจากศาลฯ เห็นว่าก่อนที่ผู้ร้องทั้งสองรายจะยื่นคำร้องต่อศาลฯ เป็นคดีนี้ รฟท.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว โดยอ้างว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

โดยก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ 824/2567 ลงวันที่ 30 เม.ย. 2567 ว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ไม่เกินขอบเขตแห่งสัญญา และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขให้ศาลฯ เพิกถอนคำชี้ขาดได้ตามมาตรา 40 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ 2545 และพิพากษายกคำร้อง แต่รฟท.ยังคงเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาด

ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสองจึงยื่นคำร้องต่อศาลฯ เป็นคดีนี้ ขอให้ศาลฯ มีคำพิพากษาหรือคำสั่งบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ขณะเดียวกันรฟท.ได้ยื่นอุทธรณ์จนถึงศาลปกครองสูงสุด ซึ่งก็มีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2567 ยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำอุทธรณ์ไว้พิจารณา คดีจึงเป็นอันถึงที่สุด และผูกพันคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ดังนั้นเมื่อศาลฯ วินิจฉัยว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงพิพากษาบังคับให้รฟท.ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ โดยให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ทั้งนี้ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อ 21 พ.ย. 2565 กำหนดให้ 1)ให้รฟท.ชำระสินจ้างตามสัญญา และตามคำสั่งเปลี่ยนแปลงงานเป็นจำนวน 4,204,286,694.83 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 23,654,882.90 บาท 2)ให้รฟท.ชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา 7.305% ต่อปี นับแต่วันผิดนัดแต่ละงวดจนถึงวันที่ 23 ก.ค. 2565 เป็นจำนวน 929,211,622.11 บาท และให้ชำระดอกเบี้ย 7.305% ต่อปี ของเงินจำนวน 4,204,286,694.83 บาท นับจากวันที่ 22 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้กับผู้ร้องทั้งสอง

3)ให้รฟท.ชำระดอกเบี้ยผิดนัดอัตรา 7.305% ต่อปี ของต้นเงิน 180,651,350.64 บาท ซึ่งเป็นเงินประกันผลงาน (Retention) ที่ผู้คัดค้านคืนให้กับผู้ร้องทั้งสองล่าช้าในแต่ละงวดล่าช้า คำนวณตั้งแต่วันผิดนัดชำระจนถึงวันที่ 23 ก.ค. 2565 เป็นจำนวน 34,904,693.43 บาท ให้กับผู้ร้องทั้งสอง

4)ให้รฟท.ชำระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการขยายเวลาเป็นจำนวน 680,057,076 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ของเงินจำนวน 680,057,076 บาท แก่ผู้ร้องทั้งสอง พร้อมชำระดอกเบี้ยผิดนัดอัตรา 7.305% ต่อปี ของต้นเงิน 680,057,076 บาท นับแต่วันที่ยื่นคำเสนอข้อพิพาทนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่ผู้ร้องทั้งสอง

5)ให้รฟท.ชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้จำนวน 96,044,682.13 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำ นวน 6,723,297.75 บาท พร้อมชำระดอกเบี้ยผิดนัดอัตรา 7.305%  ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 96,044,682.13 บาท นับแต่วันที่ยื่นคำเสนอข้อพิพาทจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง

Back to top button