
จับตา! “ธปท.” คัด 3 กลุ่มทุน “KTB–SCBX–ทรูมันนี่” ลุยตั้งแบงก์ไร้สาขา
“ธปท.” เคาะ 3 กลุ่มทุนใหญ่ผ่านคุณสมบัติจัดตั้ง Virtual Bank คาดเปิดตัวกลางปี 68 นำโดยกลุ่ม “KTB ผนึก GULF-AIS-OR” ตามมาด้วยกลุ่ม “SCBX จับมือ Kakao Bank-WeBank” และกลุ่ม“ทรูมันนี่” ร่วมเครือ Alibaba คาดเริ่มให้บริการภายในปี 2569
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(16 เมษายน 2568) รายงานข่าวจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากธปท. เปิดให้ยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ถึง 19 กันยายน 2567 จากจำนวนคำขอทั้งหมด 5 ราย
ล่าสุดวันนี้แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้รับรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวน 3 ราย เพื่อขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) หลังจากที่ ธปท. ได้เปิดรับคำขอและสัมภาษณ์ผู้ยื่นขอทั้ง 5 รายอย่างละเอียด โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือก 3 ราย ได้แก่
1.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร GULF, AIS และ เครือปตท.ผ่านบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR
2.กลุ่มบริษัทเอสซีบี เอกซ์ ร่วมกับ Kakao Bank จากเกาหลีใต้ และพันธมิตร We Bank จากจีน
3.บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน “ทรูมันนี่” ในเครือซีพี ซึ่งมี Ant International ในเครือ Alibaba เป็นผู้ร่วมลงทุน
ทั้งนี้ ธปท. ได้พิจารณาจากคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถในการประกอบธุรกิจ Virtual Bank ของผู้ยื่นขอแต่ละรายอย่างถี่ถ้วน ก่อนส่งรายชื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติขั้นสุดท้าย โดยขั้นตอนต่อไป นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบการจัดตั้ง Virtual Bank ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในกลางปี 2568 จากนั้นผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปี นับจากวันที่รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
อนึ่ง ก่อนหน้านี้มีผู้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่
1.กลุ่ม Sea Group, ธนาคารกรุงเทพ (BBL), กลุ่มบีทีเอส, เครือสหพัฒน์ และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
กลุ่มดังกล่าวมีจุดแข็งด้านฐานะทางการเงินที่มั่นคงและเครือข่ายธุรกิจที่หลากหลาย โดยธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีสินทรัพย์รวมสูงสุดในประเทศ อยู่ที่ระดับ 3.97 ล้านล้านบาท และมีฐานเงินฝากรวม 2.72 ล้านล้านบาท ขณะที่กลุ่ม BTS มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจดิจิทัลผ่านบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 6.8 ล้านราย ร่วมกับเครือข่ายค้าปลีกของเครือสหพัฒน์ และจุดให้บริการกว่า 5,000 แห่งของไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศ ส่งผลให้กลุ่มนี้มีศักยภาพในการเข้าถึงผู้บริโภคอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ
2.กลุ่มธนาคารกรุงไทย (KTB), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR)
เป็นการผนึกกำลังของผู้ประกอบการรายใหญ่จากภาคการเงิน โทรคมนาคม และค้าปลีก โดยธนาคารกรุงไทยมีสินทรัพย์รวมเป็นอันดับสองของประเทศที่ระดับ 3.62 ล้านล้านบาท พร้อมฐานผู้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT กว่า 17 ล้านราย และแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กว่า 34 ล้านราย AIS มีฐานลูกค้ากว่า 50 ล้านเลขหมาย และเครือข่าย 5G ครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะที่ OR มีสถานีบริการน้ำมัน ร้านค้าปลีก และสมาชิก Blue Card กว่า 15 ล้านรายทั่วประเทศ
3.กลุ่มบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (SCBX), KakaoBank จากสาธารณรัฐเกาหลี และ WeBank จากสาธารณรัฐประชาชนจีน
SCBX เป็นสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ โดยมีสินทรัพย์รวม 3.41 ล้านล้านบาท และมีความเชี่ยวชาญด้านการธนาคารดิจิทัล KakaoBank เป็นธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาชั้นนำของเกาหลีใต้ โดยมีผู้ใช้งานกว่า 20 ล้านราย ส่วน WeBank จากจีนมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการลูกค้ารายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ AI, Blockchain, Cloud และ Big Data ซึ่งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
4.กลุ่มบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด (ในเครือเครือเจริญโภคภัณฑ์ – CP Group) และ Ant Group จากจีน
กลุ่มนี้มีจุดแข็งจากเครือข่ายค้าปลีกของ CP ที่ครอบคลุมร้านค้ากว่า 15,000 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกับฐานผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน “ทรูมันนี่” ที่มีมากกว่า 27 ล้านรายต่อเดือน ขณะที่ Ant Group เจ้าของแพลตฟอร์ม Alipay มีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 1 พันล้านราย โดยการผสานจุดแข็งระหว่างเครือข่ายทางธุรกิจและเทคโนโลยีของทั้งสองฝ่าย คาดว่าจะสามารถพัฒนาระบบนิเวศทางการเงินดิจิทัลได้อย่างครบวงจร
5.กลุ่ม Lighthub Asset, Lightnet Group และ WeLab จากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
Lighthub Asset ก่อตั้งโดยนายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ซึ่งมีประสบการณ์ในแวดวงการเงินมากกว่า 30 ปี พร้อมฐานลูกค้าในประเทศกว่า 46 ล้านราย และเครือข่ายจุดให้บริการกว่า 150,000 แห่งทั่วไทย ขณะที่ Lightnet Group เป็นบริษัทฟินเทคสัญชาติไทยที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการทางการเงินจากธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วเอเชียและยุโรป ส่วน WeLab มีประสบการณ์ด้านการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีความเชี่ยวชาญด้านระบบที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI