KTB กวาดกำไร Q1/68 เฉียด 1.2 หมื่นล้าน NPL ลดเหลือ 3% สะท้อนคุณภาพหนี้ดีขึ้น

KTB รายงานกำไรไตรมาส 1/68 แตะ 1.17 หมื่นล้านบาท รับรายได้จากผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงและการลงทุนขยายตัว ขณะที่ NPL ลดลงเหลือระดับ 2.97% สะท้อนการบริหารความเสี่ยงยอดเยี่ยม


ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2568 มีกำไรสุทธิ ดังนี้

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 เผชิญกับความท้าทายรอบด้านที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากสงครามการค้าระลอกใหม่ที่ทวีความเข้มข้น หลังจากสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้า ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกและทางอ้อมจากการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจีนในตลาดไทย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางจากปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ หนี้ครัวเรือน เศรษฐกิจนอกระบบ และข้อจำกัดของภาคธุรกิจ SME ในการปรับตัว รวมถึงผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพและมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่จะทยอยออกมาเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า

ธนาคารกรุงไทยดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง เตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน โดยมุ่งช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มให้สามารถปรับตัวและสร้างโอกาสจากการเปลี่ยนแปลง พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ล่าสุด ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเพิ่มเติมจากมาตรการช่วยเหลือน้ำท่วม พร้อมขับเคลื่อนโครงการบรรเทาหนี้ เช่น “คุณสู้ เราช่วย”, สินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน, สินเชื่อกรุงไทยรวมหนี้ และสินเชื่อกรุงไทยบ้านแลกเงิน ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ลดภาระทางการเงิน เสริมสภาพคล่องและความคล่องตัวในการดำรงชีพ ตามแนวทางการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending)

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 ธนาคารยังคงดำเนินกลยุทธ์เติบโตอย่างยั่งยืน โดยบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบ รักษาระดับ Coverage Ratio สูงที่ 187.7% เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ธนาคารมีกำไรสุทธิส่วนของธนาคารที่ 11,714 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของรายได้จากผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยง การลงทุน และกำไรจากเงินลงทุน โดยมี Cost to Income Ratio อยู่ที่ 40.4% สะท้อนประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุน ขณะที่การตั้งสำรองหนี้อยู่ในระดับเหมาะสม NPL อยู่ที่ 95,017 ล้านบาท คิดเป็น NPL Ratio ที่ 2.97% ลดลงจาก 2.99% เมื่อสิ้นปี 2567 สะท้อนความสามารถในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4/2567 กำไรของธนาคารเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยรายได้จากผลิตภัณฑ์บริหารความเสี่ยงและการลงทุนขยายตัวตามภาวะตลาด ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 6.5% จากการควบคุมต้นทุนและปัจจัยตามฤดูกาล ส่งผลให้ธนาคารสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 ธนาคารมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 18.17% และเงินกองทุนรวมที่ 21.14% ของสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย และมี Liquidity Coverage Ratio (LCR) ที่สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด สะท้อนถึงความมั่นคงด้านเงินทุนและสภาพคล่องของธนาคาร

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P Global Ratings ได้ประกาศปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาว/ระยะสั้นของธนาคารเป็น BBB/A-2 จากเดิม BBB-/A-3 โดยพิจารณาจากความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นต่อเนื่อง การบริหารคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง และสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง

ในปี 2568 ธนาคารยังคงเดินหน้าเสริมสร้างความแข็งแกร่งขององค์กร ภายใต้แนวคิด “Corporate Value Creation เสริมทักษะ สร้างคุณค่า สู่อนาคต” ผ่านการขับเคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ การเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน บริหารความเสี่ยงจากคุณภาพสินเชื่อ การพัฒนาศักยภาพพนักงาน และการขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าใน 5 ระบบนิเวศ ต่อยอดแพลตฟอร์มเดิม เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ ยกระดับบริการลูกค้า และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เพื่อสร้างรูปแบบใหม่ของการทำงานที่ตอบโจทย์การใช้เทคโนโลยีอย่างคุ้มค่า รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงให้ผู้ถือหุ้นในระยะยาว

Back to top button