
พาราสาวะถี
บอกไว้ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ตึก สตง.ถล่มแล้วว่า ยิ่งสาวยิ่งเจอ ยิ่งตรวจสอบยิ่งพบความไม่ชอบมาพากล ด้วยเหตุเพราะแผ่นดินไหวจากเมียนมาที่ส่งผลสะเทือนมาถึงประเทศไทย
บอกไว้ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ตึก สตง.ถล่มแล้วว่า ยิ่งสาวยิ่งเจอ ยิ่งตรวจสอบยิ่งพบความไม่ชอบมาพากล ด้วยเหตุเพราะแผ่นดินไหวจากเมียนมาที่ส่งผลสะเทือนมาถึงประเทศไทย จะรุนแรงขนาดไหนก็ตาม ตึกดังว่าเป็นเพียงตึกเดียวที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ถล่มลงมาเป็นโดมิโน นั่นจึงเป็นเหตุให้ แพทองธาร ชินวัตร ตั้งคำถามตั้งแต่วันแรกที่ไปตรวจพื้นที่เกิดเหตุ ไม่ใช่เกิดจากกระแสสังคมที่กดดัน หรือความหมั่นไส้ในฐานะองค์กรผู้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินของ สตง.
ต้องไม่ลืมว่า ธุรกิจในครอบครัวชินวัตรอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารสูง ไม่ว่าจะเป็นอาคารสำนักงานของตัวเอง หรือคอนโดมิเนียม และสิ่งปลูกสร้างอีกหลายประเภท นายกรัฐมนตรีหญิงย่อมมีความเข้าใจถึงมาตรฐานทั้งด้านการออกแบบ การก่อสร้าง รวมไปถึงการใช้วัสดุต่าง ๆ แม้จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่ย่อมมีประสบการณ์ตรงที่อดตั้งคำถามต่อกรณีนี้ไม่ได้ ขณะเดียวกัน อนุทิน ชาญวีรกูล มท.1 ที่กำกับดูแลกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่เท่านั้น ยังเป็นวิศวกรมีความรู้ด้านวิศวกรรมเป็นอย่างดี
ด้วยเหตุนี้มันจึงทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อเหตุที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก นั่นจึงทำให้หลังวันหยุดยาวสงกรานต์ที่ผ่านมา แพทองธารได้มีการเรียกทั้ง พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพร้อมคณะหารือ พร้อมรับฟังรายงานการทำคดีในส่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ก่อนจะให้สัมภาษณ์ยืนยัน จะมีการออกหมายจับผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดจากเหตุตึก สตง.ถล่มในเร็ว ๆ นี้ เรื่องนี้มีคนตายจำนวนมาก ต้องมีคนรับผิดชอบ เจ้าหน้าที่ต้องทำงานให้เร็ว
กรณีนี้ แพทองธารยืนยันหนักแน่น ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลไม่ได้ปล่อยมือเรื่องนี้แน่นอน และไม่มีแพลนว่าจะปล่อยด้วย ในส่วนตัวของตนรับเรื่องนี้ไม่ได้กับการที่จะมีคนเสียชีวิตไปด้วยเหตุผลที่มีตึกถล่ม 1 ตึก แต่เข้าใจได้อยู่แล้วถ้ามีแผ่นดินไหวเหมือนที่เมียนมาที่แผ่นดินไหวกันทั้งหมด และรุนแรง ห้ามไม่ได้ แต่ครั้งนี้มีแค่ 1 ตึกสำหรับประเทศไทย “ดิฉันพูดมาตั้งแต่วันแรกมีแค่ 1 ตึก และดิฉันติดตามเรื่องนี้อยู่อย่างจริงจัง”
หลังจากที่เรียกตำรวจหารือแล้ว แพทองธารยังได้เชิญ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยปลัด กทม.เข้าพบด้วย เนื่องจากมีรายงานจากเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปเก็บหลักฐานว่าถูกทาง กทม.ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์กู้ซากตึกและค้นหาผู้สูญหายไม่ให้เข้าพื้นที่ โดยที่ชัชชาติชี้แจงหลังเข้าพบว่า เป็นเพียงแค่สัปดาห์แรกที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร และจำเป็นที่จะต้องเข้มงวดเพราะต้องค้นหาผู้ที่หวังว่าจะรอดชีวิตด้วย แต่หลังจากนั้นไม่ได้มีปัญหา มีการประสานงานมาสามารถเข้าพื้นที่ได้ทันที
เคลียร์ใจกันไปแล้ว งานคงราบรื่นส่วนจะเรียบร้อยหรือไม่ อย่างที่บอกว่าเหตุที่เกิดขึ้นกระบวนการตรวจสอบไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ซ่อนเงื่อน สามารถพิสูจน์ทราบได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ และขั้นตอนทางวิศวกรรม อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นงานในส่วนของดีเอสไอน่าจะมีความคืบหน้ามากกว่า เพราะตรวจสอบในกรณีของความผิดปกติของบริษัทที่รับงานซึ่งถูกตั้งข้อกังขาทั้งปมนอมินี และความผิดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
วันเสาร์ที่ผ่านมา ได้มีการบุกรวบตัว ชวนหลิง จาง ที่เป็นหนึ่งในกรรมการบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ตามความผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2542 มาตรา 37 และมาตรา 41 โดยเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมได้ที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านถนนรัชดาภิเษก พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรียุติธรรม ได้นำทีมแถลงข่าวชี้ว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับดีเอสไอ
เจ้าหน้าที่มีการดำเนินการขอหมายจับต่อศาล โดยผู้ต้องหาตามหมายจับประกอบไปด้วย บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด โดย ชวนหลิง จาง กรรมการฯ ในฐานะกรรมการ ส่วนตัวนายมานัส นายประจวบ และนายโสภณ 3 คนไทยที่ตำรวจกำลังไล่ล่าติดตามตัวมาดำเนินคดี โดยทั้งสามคนเจ้าหน้าที่มีหลักฐานเชื่อว่าไปถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เนื่องจากมีหลักฐานทางการเงิน 2,000 กว่าล้านบาทในการกู้ยืมชาวจีน อีกทั้งตรวจสอบพบว่าชาวไทยดังกล่าวไม่ได้มีฐานะทางการเงิน
นอกจากนี้ ดีเอสไอยังจะได้ตรวจสอบว่าการประมูลงานก่อสร้างอาคาร สตง.เข้าข่ายการฮั้วประมูลหรือไม่และเข้าข่ายว่ามีการใช้อุบาย หรือกระทำให้ได้งานหรือไม่ ดังนั้น คงไม่ใช่แค่กรรมการบริษัทข้ามชาติและนอมินีเท่านั้นที่อยู่ในข่ายจะต้องถูกดำเนินคดี ผู้ว่าจ้างคงจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ ในฐานะองค์กรที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นกับการใช้จ่ายงบประมาณทุกหน่วยงานของภาครัฐ จะอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นเป็นเรื่องของผู้รับเหมาและบริษัทรับงาน ทั้งที่บ้านหลังใหม่ซึ่งมีการโพสต์รำพึงรำพันในกลุ่มไลน์ของเจ้าหน้าที่ สตง.นั้นมูลค่าสูงกว่า 2 พันล้านบาท
ประเด็นที่น่าตกใจ และสะท้อนให้เห็นถึงความชุ่ย ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตของคนที่จะมาใช้ตึกหากสร้างเสร็จคงเป็นกรณีการปลอมลายเซ็นวิศวกรทั้งที่คุมแบบ และคุมงานก่อสร้าง โดย ภูมิธรรม เวชยชัย เผยข้อมูลที่ได้รับรายงานไม่ได้มีเพียงแค่รายหรือสองราย แต่มีบุคคลที่ถูกปลอมลายเซ็นอีกหลายคน เกิดคำถามแบบคนที่ไม่ต้องมีความรู้ใด ๆ ใช้แค่สามัญสำนึกธรรมดาก็น่าจะตอบกันได้ว่า งานที่มีมูลค่าขนาดนี้ มาตรฐานในการตรวจสอบต้องเข้มข้นทุกขั้นตอนหรือไม่
มากไปกว่านั้นกิจการร่วมค้า PKW ซึ่งเป็นกิจการร่วมของ 3 บริษัทคือ บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท คาร์ฮัพ จำกัด และบริษัท ว.และสหายคอนซัลแตนตส์ จำกัด ได้รับการว่าจ้างจาก สตง.ให้ควบคุมงานก่อสร้าง จากแนวทางการสอบสวนของเจ้าหน้าที่พบความไม่ชอบมาพากลหลายประการ น่าสนใจว่า เมื่อว่าจ้างแล้วกระบวนการตรวจสอบ ติดตามการทำงานของ สตง. พบข้อบกพร่อง ผิดพลาดอะไรหรือไม่ แล้วมีการดำเนินการอย่างไร จะชี้แจงกี่โมง หรือรอให้ถูกเปิดโปงให้หมดเสียก่อนแล้วค่อยแก้ต่างแก้ตัวกันทีเดียว
อรชุน