
“แพทองธาร” เปิดเวที ESCAP ดัน 3 เศรษฐกิจสำคัญ หนุนอนาคตเอเชีย“สีเขียว-สร้างสรรค์-ครัวโลก”
นายกฯ “แพทองธาร” เปิดมุมมองใหม่เอเชียผ่าน 3 ยุทธศาสตร์ไทย บนเวที ESCAP ครั้งที่ 81 ดัน 3 เศรษฐกิจเปลี่ยนอนาคต “สีเขียว-สร้างสรรค์-ครัวโลก”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 เม.ย.68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ สำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ครั้งที่ 81 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNCC) ถนนราชดำเนิน
นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทของความท้าทายระดับโลกที่เชื่อมโยงกันข้ามพรมแดน ทั้งภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภาวะถดถอยของสิ่งแวดล้อม และอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ดังนั้น การเสริมสร้างความร่วมมือในทุกระดับและภาวะผู้นำที่มองไกลจึงเป็นกุญแจสำคัญ โดยต้องยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ บรรทัดฐานสากล และความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุม
นางสาวแพทองธาร เน้นย้ำถึงความสำคัญของกลไกพหุภาคี เช่น องค์การสหประชาชาติ ESCAP อาเซียน ACMECS BIMSTEC และ ACD ว่า มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรวมพลังประเทศสมาชิกเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างความเชื่อมโยง และผลักดันนโยบายร่วมกันสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้เอเชีย-แปซิฟิกจะเป็นแหล่งเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าครึ่งของโลก แต่ยังเผชิญความเหลื่อมล้ำและปัญหาความยากจนที่ทวีขึ้น
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความกังวลต่อความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยระบุว่าในปี 2567 ที่ผ่านมา กว่า 84% ของเป้าหมาย SDGs ในภูมิภาคยังมีความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยหรือถดถอย สะท้อนว่าประเทศสมาชิกต้องเร่งปรับแนวทาง ส่งเสริมนวัตกรรม และขับเคลื่อนนโยบายสร้างสรรค์เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDGs
นางสาวแพทองธารนำเสนอยุทธศาสตร์สำคัญ 3 ประการ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางและเคารพความสมดุลของธรรมชาติ โดยไทยยินดีแบ่งปันแนวทางพัฒนานี้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคร่วมกัน
- “ครัวของโลก” ไทยตั้งเป้าหมายมุ่งเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านการปรับโฉมภาคการเกษตร ด้วยการใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ (precision farming) และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะไม่เพียงตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารเท่านั้นแต่ยังช่วยสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน เป็นธรรม และครอบคลุมทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
- “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ผ่านการขับเคลื่อนด้วย Soft Power และการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยไทยมีทุนทางวัฒนธรรมซึ่งสามารถต่อยอดผ่านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม การออกแบบนวัตกรรม และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะแนวคิด “De-stress destinations” หรือแหล่งท่องเที่ยวเพื่อผ่อนคลายความเครียด และการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ช่วยกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจในพื้นที่นอกเขตเมือง
- “การเปลี่ยนผ่านสีเขียว” โดยไทยเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวผ่านนโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นการลดการปล่อยคาร์บอน ใช้พลังงานสะอาด และส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยืดหยุ่นสูง
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นว่า ความร่วมมือระดับภูมิภาคควรดำเนินควบคู่กับกลไกระดับชาติ และต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเสนอแนวคิดและเครื่องมือพัฒนาจากไทย เช่น BCG โมเดล หรือโครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ซึ่งสามารถใช้เป็นต้นแบบเพื่อขยายผลในระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้านของไทย มีศักยภาพดึงดูดการลงทุนทั้งในภาคเกษตร พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ของตลาดภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก