
“พล.อ.ท.ธนพันธ์” จี้ “หมอไห่” เปลี่ยนตัวรักษาการ “เลขาฯ กสทช.” หลังศาลรับรองมติถูกกฎหมาย
พล.อ.ท.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ จี้ “ประธาน กสทช.” เปลี่ยนตัวรักษา “เลขาฯ กสทช.” หลังศาลอาญาทุจริตฯ วินิจฉัยว่าการดำเนินการและมติของ 4 กรรมการชอบด้วยกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากผลของคำพิพากษาศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขดำ อท.155/2566 เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 68 ที่ยกฟ้อง 4 กสทช. กับพวก รวม 5 คน ไม่ผิดฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ปมซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก-เปลี่ยนรักษาการแทนเลขาฯ กสทช. ที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และรักษาการแทนเลขาธิการกรรมการ กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง
โดยที่มาของการฟ้องร้องดังกล่าว เนื่องจาก กรรมการ กสทช.ที่ตกเป็นจำเลย ได้มีการตรวจสอบโจทก์กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย แต่หลังจากนั้นศาลมีข้อวินิจฉัยว่า มติดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมาย และชี้แจงประเด็นและปัญหาในการแต่งตั้งรองเลขาธิการฯ
ทำให้มีการตั้งคำถามในการทำงานของ กสทช.ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จึงมีรายงานว่าในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 11/2568 เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา พล.อ.ท.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ได้ขอให้ ประธาน กสทช. พิจารณาดำเนินการตามมติ วาระที่ 5.22 ของที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 สรุปว่า การกระทำของจำเลย 4 กสทช. เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และ มติ กสทช.ได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของ กสทช. ซึ่งส่งผลให้ต้องปฏิบัติตาม มติที่เกี่ยวข้องดังกล่าว สรุปได้ ดังนี้
1.เปลี่ยนตัว รองเลขาธิการฯ รักษาการแทนเลขาธิการฯ (นายไตรรัตน์ฯ) จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น
2.แต่งตั้งรองเลขาธิการ กสทช.สายงานกระจายเสียงฯ (ผศ.ภูมิศิษฐ์ฯ) เป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการฯ
3.สำนักงาน กสทช.ดำเนินการแต่งตั้ง คณก.สอบสวนทางวินัย ตามระเบียบการบริหารงานบุคคลฯ
พล.อ.ท.ธนพันธ์ จึงได้เสนอว่า มติ กสทช. ดังกล่าวซึ่งได้มีการรับรองและไม่เคยถูกทบทวนหรือเพิกถอนแต่อย่างใด มีผลตามกฎหมายและผูกพันคู่กรณีต้องปฏิบัติตามแล้วตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2566 ซึ่ง ประธาน กสทช. ไม่ให้จดบันทึกการประชุมในเรื่องดังกล่าว แจ้งว่ายังไม่ได้รับหนังสือและยังไม่ถึงที่สิ้นสุด
นอกจากนี้ พล.อ.ท.ธนพันธ์ ยังได้มีข้อสังเกตถึงการที่ยังคงให้นายไตรรัตน์ ทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. ทั้งที่ กสทช. มีมติให้เปลี่ยนรักษาการเลขาฯ ไปแล้ว รวมทั้งแม้ว่าที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อ 17 มกราคม.2567 มีมติไม่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ทั้งที่กรรมการ กสทช.หลายคนได้มีหนังสือเร่งรัดให้มีการบรรจุวาระเพื่อสรรหาเลขาธิการ กสทช. ใหม่ไปหลายครั้ง ทำให้ตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ว่างเว้นมาจะครบ 5 ปี นับตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2563
ที่สำคัญนายไตรรัตน์ เข้าสู่ตำแหน่งรองเลขาฯ สายงานยุทธศาสตร์ฯ โดยการรับสมัครเป็นการทั่วไปตามสัญญาจ้างและจะสิ้นสุดสัญญาใน 30 เมษายน 2568 นี้ มีประเด็นและปัญหาในข้อกฎหมายมากมาย เช่น มีคำสั่งแต่งตั้ง “ไตรรัตน์ฯ” เป็นพนักงานประจำ โดยไม่ผ่าน กสทช. จากกรณีที่นายสุทธิศักดิ์ฯ รองเลขาธิการ กสทช. ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง “ไตรรัตน์ฯ” เป็นพนักงานประจำ
แต่ต่อมาได้ขอยกเลิกคำสั่งที่ตนเองลงนามเนื่องจากมีประเด็นข้อกฎหมายว่ามีอำนาจที่ได้รับมอบหรือไม่ ซึ่งเมื่อกรรมการ กสทช. ทราบจากข่าวหลายสำนัก ได้ขอให้สำนักงานฯ ชี้แจงและรายงานให้ที่ประชุม กสทช. ร่วมกันพิจารณา แต่เนื่องจากข้อสั่งการของประธาน กสทช. และการไม่อนุมัติวาระฯ เข้าสู่ที่ประชุม กสทช. โดยประธาน กสทช. ชี้แจงว่าสำนักงานฯ ได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบแล้ว ทำให้คำสั่งข้างต้นเกิดประเด็นปัญหาในข้อกฎหมายและระเบียบของ กสทช.
ในกรณีการประเมินผลการปฏิบัติงาน “ไตรรัตน์ฯ” เป็นการล่วงหน้าก่อนถึง 7 เดือน ซึ่งปกติต้องประเมินเมื่อครบสัญญาจ้าง ดังนั้นประเด็นและปัญหาในข้อกฎหมายนี้ สมควรได้รับการชี้แจงให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีคำสั่ง ต่อระยะเวลาการปฏิบัติงานของรองเลขาธิการ กสทช. โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของ กสทช. ลงวันที่ 2 เมษายน 2568
โดยที่สำนักงาน กสทช. ได้เสนอวาระที่ 6.2 เรื่อง การต่อระยะเวลาการปฏิบัติงานของผู้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช.สายงานกิจการโทรคมนาคม คือ นาย สุทธิศักดิ์ฯ ที่จะครบกำหนดสัญญาในวันที่ 30 เมษายน 2568 พร้อมนายไตรรัตน์ฯ ให้ที่ประชุม กสทช.ครั้งที่ 9/2568 เมื่อ 26 มีนาคม 2568 รับทราบ ซึ่งที่ประชุมมีเพียงประธาน กสทช.รับทราบ เนื่องจากมีประเด็นปัญหาในเรื่องขั้นตอนวิธีการที่จะต้องทำให้ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่
ซึ่งกระบวนการที่เกิดขึ้น ก็เป็นการแต่งตั้งกันไปมา ระหว่าง นายไตรรัตน์และนายสุทธิศักดิ์ โดยการประเมิณผลทำโดยประธาน กสทช. โดยลำพัง ไม่ได้ผ่านคณะกรรมการ กสทช. จึงผิดขั้นตอนและไม่มีผล และหลังจากนี้ต้องจับตามอง การแต่งตั้ง เลขาธิการ กสทช.ตัวจริง ในช่วงปลายเดือน เมษายน 2568 นี้ ซึ่งต้องมีการผลักดัน นายไตรรัตน์ฯ ให้เป็นเลขาตัวจริง ตามที่ ประธานฯ พยายามมาตลอด แม้จะพบว่า การดำเนินการเรื่องบอลโลก 2022 ของนายไตรรัตน์ ขัดต่อ มติของ กสทช. ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถรับชมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้ ทั้งที่นำเงิน กองทุน กทปส 600 ล้านบาท ของ กสทช. ไปสนันสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ก็ตาม และ แหล่งข่าวใน กสทช. แจ้งว่ามีการร้องเรียนเรื่องการกระทำของ กกท. และนายไตรรัตน์ฯ ดังกล่าวไปยัง ปปช. แล้ว และ ปปช. ได้รับเรื่องและกำลังเข้าสู่กระบวนการสอบข้อเท็จจริงอยู่