เปิดปม SABUY พิพาท TSR เจ้าของใหม่แหกข้อตกลง ชิงฟ้องก่อน 900 ล้าน!

เปิดปม SABUY พิพาท TSR เจ้าของใหม่แหกข้อตกลง ชิงฟ้องก่อน 900 ล้าน!


เมื่อไม่นานมานี้ชื่อของบริษัท ดับบลิว เอส โอ แอล จำกัด (มหาชน) หรือ WSOL ที่เดิมคือ บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY ภายใต้การนำทัพของ นายอิทธิชัย พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WSOL ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 68 บริษัทฯ ได้ยื่นฟ้องบริษัทแห่งหนึ่งต่อศาลแพ่ง เพื่อเรียกร้องให้ชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญา โดยมีทุนทรัพย์ตามฟ้องประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งเป็นกรณีที่บริษัทได้ให้สินเชื่อแก่บริษัทดังกล่าวในช่วงระหว่างเดือนเมษายน 2566 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับการชำระหนี้คืนตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้

หลังจากนั้นในวันที่ 9 เมษายน 2568 บริษัทได้ยื่นฟ้องอดีตผู้บริหารบางรายต่อศาลในประเด็นที่บริษัทเห็นว่า อาจมีการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท โดยมีทุนทรัพย์รวมตามฟ้องประมาณ 1,700 ล้านบาท รวมทั้ง 2 กรณี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางคดีกว่า 2,600 ล้านบาท โดยผู้บริหารของ WSOL ระบุว่า การฟ้องร้องครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของทีมผู้บริหารชุดใหม่ ที่จะต้องสะสางทุกประเด็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างตรงไปตรงมา

คำถามที่ตามมาคือ บริษัทใดเป็นลูกหนี้ค้างจ่าย SABUY กว่า 900 ล้านบาท และเหตุอันใด SABUY จึงปล่อยให้กู้ยืมเงินในจำนวนสูงมากเช่นนี้ โดยจากข้อมูลที่ทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับประเด็นนี้ ปรากฏว่า ความยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นในก้อนหนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นตามที่ผู้บริหาร WSOL ได้ยื่นฟ้องจริงในช่วงปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ SABUY อยู่ภายใต้การนำทัพของนายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งในช่วงเวลานั้น SABUY เดินหน้าทำดีล M&A กับบริษัทต่างๆมากมายและหนึ่งในนั้นคือ บริษัท เธียรสุรัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ TSR โดยหวังว่าจะมาต่อยอดธุรกิจเดิมของ TSR จากสิ่งที่ SABUY มีความชำนาญอย่างตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นของ TSR จากผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วนที่เพียงพอจะทำให้ TSR กลายเป็นบริษัทลูกของ SABUY พร้อมเปลี่ยนชื่อ TSR เป็น บริษัท สบาย คอนเน็กซ์ เทค จำกัด (มหาชน) หรือ SBNEXT

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดธุรกรรมการกู้ยืมเงินกันระหว่าง SABUY และ TSR เป็นจำนวน 873 ล้านบาท ด้วยเหตุผลที่ SABUY แจ้งกับนักลงทุนว่าเป็นการปล่อยกู้ให้ TSR นำไปใช้สำหรับการลงทุนและขยายกิจการ โดยเงินกู้ก้อนดังกล่าว SABUY ได้ขอกู้ยืมมาอีกทอดจากธนาคารแห่งหนึ่งที่มีอักษรย่อ อ. โดย SABUY อ้างถึงเหตุในการยื่นขอสินเชื่อว่าจะนำเงินไปใช้สำหรับการขยายธุรกิจ ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ระหว่างนั้น SABUY กำลังทำดีล M&A กับบริษัทต่างๆทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์เป็นจำนวนมาก

แหล่งข่าวฯระบุว่า SABUY นำเงินที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร อ. ไปปล่อยกู้ต่อให้กับบริษัทลูกอย่าง TSR ซึ่งวันนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมสั่งการของนายชูเกียรติอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว โดยการปล่อยกู้ใช้วิธีซอยธุรกรรมและส่วนใหญ่ไม่ได้มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรในตอนนั้น แต่คาดการณ์ว่าได้มีการทำสัญญาย้อนหลัง (แบ็กเดต) เพื่อให้ผ่านกระบวนตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีได้

หลังจาก TSR ได้รับเงินกู้จาก SABUY ที่กู้มาจากธนาคาร อ. อีกทอดแล้ว มีการนำเงินวนมาซื้อหุ้นของ SABUY จนส่งผลให้ในช่วงเวลาดังกล่าว ราคาหุ้นของ SABUY ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นข้อสงสัยประการแรกที่อาจต้องมีการตั้งคำถามไปยัง “ธนาคาร อ.” ว่าล่วงรู้หรือไม่ว่า SABUY ไม่ได้นำเงินที่กู้มาไปลงทุนตามเงื่อนไขที่ขออนุมัติไว้ ขณะที่ TSR เมื่อได้เงินแล้วนำมาซื้อหุ้น SABUY ก็ถือว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องนำเงินไปใช้สำหรับการลงทุนเพื่อขยายกิจการ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งได้ทิ้งร่องรอยความเสียหายเป็นวงกว้างให้กับผู้ถือหุ้นของ SABUY และบริษัทอื่นที่ตกเป็นเป้า M&A ของนายชูเกียรติ รวมถึงผู้ถือหุ้นกู้อีกเป็นจำนวนมากที่ยังคงต้องรอการชำระคืนหนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ทีมบริหารใหม่ของ SABUY ภายใต้การกุมบังเหียนของนายอิทธิชัย ได้มัดมือชกผู้ถือหุ้นกู้ให้จำยอมต้องเลื่อนการไถ่ถอนไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว

แหล่งข่าวรายเดียวกันยืนยันว่า การฟ้องร้องคดีแพ่งมูลค่า 900 ล้านบาทครั้งนี้ ในส่วนของนิติบุคคลที่ตกเป็นจำเลย คือ “เธียรสุรัตน์“ หรือ บริษัท ทีเอสอาร์ ลิฟวิ่ง โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อหลักทรัพย์ TSR ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการตัดสินใจฟ้องร้องที่ผิดไปจากข้อตกลงระหว่าง ”ผู้บริหาร SABUY ชุดนายอิทธิชัย“ และ ”ผู้บริหาร TSR ที่เป็นเจ้าของเดิมก่อนหน้านายชูเกียรติ“ ที่ระบุว่าจะยืดเวลาการชำระคืนหนี้ให้กับ TSR ให้สอดคล้องกับที่ SABUY ขอขยายเวลาการชำระหนี้กับ “ธนาคาร อ.” ออกไปอีกหนึ่งปี

นี่จึงนำมาสู่ข้อสงสัยประการที่สองว่า เหตุใด SABUY ถึงตัดสินใจเร่งรีบ และล้มข้อตกลงเรื่องการยืดเวลาชำระหนี้ของ TSR ทั้งที่ SABUY ได้รับอนุมัติการเลื่อนจ่ายจากธนาคารเจ้าหนี้แล้ว โดยแหล่งข่าวฯระบุเพิ่มเติมว่า การฟ้องร้องครั้งนี้อาจเกี่ยวข้องกับ ”หลักทรัพย์ค้ำประกัน“ ที่ถูกนำไปวางไว้กับ ”ธนาคาร อ.“ ซึ่งขณะนี้ทีมข่าว ”ข่าวหุ้นธุรกิจ“ อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หากมีความคืบหน้าจะมีการนำเสนอต่อไป

Back to top button