
ข้อเท็จจริงไฟทดแทน 5,200 MW
จากการสร้างจินตนาการ ปลุกปั่นให้เกิดความเข้าใจ มาสู่ความกังวลว่า “การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์”
จากการสร้างจินตนาการ ปลุกปั่นให้เกิดความเข้าใจ มาสู่ความกังวลว่า “การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์” เป็นตัวการทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น แถมสร้างภาระงบประมาณแผ่นดินกว่าแสนล้านบาท นั่นทำให้บางกลุ่มก้อนทางสังคมใช้เป็นเหตุเรียกร้องให้ยกเลิกสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว
เรื่องนี้ “วัฒนพงษ์ คุโรวาท” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) มีการชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริง อย่างน่าสนใจ..เริ่มจากการรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 5,203 เมกะวัตต์ เป็นการดำเนินการจากมติกพช.วันที่ 6 พ.ค. 2565 และมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว ปัจจุบันมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA )แล้ว เป็นส่วนใหญ่และบางโครงการได้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว
การยกเลิกสัญญาที่ลงนามไปแล้วจึงไม่อาจทำได้ และหากจะมีการยกเลิกโครงการ ที่ไม่ลงนามสัญญาส่วนที่เหลือกว่า 10 สัญญาจะทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับสัญญาที่ลงนามไปแล้ว และเป็นการดำเนินการแบบ 2 มาตรฐานระหว่างกลุ่มโครงการที่ได้มีการลงนามสัญญาแล้วและโครงการที่ยังไม่ได้ลงนามสัญญา..!!
สำหรับสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว มีต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 2.7 บาทต่อหน่วย
-โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ อัตรา 2.18 บาทต่อหน่วย
-โครงการพลังงานลม อัตรา 3.10 บาทต่อหน่วย
-โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับ BESS (ระบบเดินไฟในแบตเตอรี่) อัตรา 2.83 บาทต่อหน่วย
เห็นได้ชัดว่า..ราคาดังกล่าว ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย (Grid Parity) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) โดยข้อมูล ณ สิ้นมีนาคม 2568 มีค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยประมาณ 3.18 บาทต่อหน่วย
ดังนั้นการรับซื้อไฟฟ้าจะไม่ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางกลับกันตรงกันข้ามการรับซื้อไฟฟ้า จะทำให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลง เนื่องจากมีราคารับซื้อไฟฟ้าต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย.! โดยการรับซื้อไฟฟ้าทดแทนจะช่วยให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลงประมาณ 4,574 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้การรับซื้อไฟฟ้าทดแทน จะช่วยให้ประเทศไม่เสียโอกาสการลงทุนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอันเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาด มีอัตรารับซื้อระดับเหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในภาพรวม และช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาค่าไฟฟ้าของประเทศได้ระยะยาว
อีกนัยสำคัญการรับซื้อไฟฟ้าข้างต้น เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้า และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) 30-40% ภายในปีพ.ศ. 2573 การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปีพ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายในปีพ.ศ. 2608
อีกทั้ง “ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของไทย” ที่จะรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และเพื่อเสริมสร้างความสามารถการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ ด้วยการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
นี่คือ..ข้อเท็จจริงว่าด้วยเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ ที่เชื่อว่าน่าจะทำให้หลายฝ่ายได้รับ “ข้อเท็จจริง” อย่างแท้จริง..เพื่อช่วยลดทอน “จินตนาการอันบิดเบือน” ลงได้ไม่น้อยทีเดียว..!!?
เล็กเซียวหงส์