
PTTGC เดินหน้าขยาย Biorefinery เพิ่มศักยภาพแข่งขันระดับสากล
PTTGC เดินหน้าขยายศักยภาพ Biorefinery ครบวงจร ต่อยอดผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ ตอกย้ำศักยภาพธุรกิจมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต เดินหน้าขยายศักยภาพโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) ต่อยอดจากความสำเร็จในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) เป็นรายแรกของประเทศ สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Bio-Chemicals) และพลาสติกชีวภาพ (Bio-Polymers) มูลค่าสูงที่ตอบโจทย์การใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลกที่มุ่งสู่วัสดุทางเลือกเพื่อความยั่งยืน เสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่แตกต่างอย่างยั่งยืน พร้อมขับเคลื่อนองค์กรตามกลยุทธ์ขยายธุรกิจมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ (High Value & Low Carbon Business)
นอกจากการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ที่มีกำลังการผลิตในเฟสแรก 6 ล้านลิตรต่อปีแล้ว GC ยังต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านการกลั่นและเคมีภัณฑ์ขั้นสูง โดยการพัฒนากระบวนการ Co-processing ที่สามารถใช้งานร่วมกับหน่วยกลั่นเดิมได้ นำน้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Bio-Chemicals) และพลาสติกชีวภาพ (Bio-Polymers) มูลค่าสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการใช้วัสดุทางเลือกที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดย GC ได้เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Bio-Propylene สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ พลาสติกแข็ง ของเล่นเด็ก และชิ้นส่วนยานยนต์ Bio-BD (Bio-Butadiene) ใช้ในยางรถยนต์และรองเท้ากีฬา และ Bio-PTA (Bio-Purified Terephthalic Acid) สำหรับผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และขวดพลาสติก PET โดยขณะนี้มีตลาดปลายทางในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยาง และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ตามลำดับ
นอกจากนี้ GC ยังมีแผนต่อยอด Bio-Naphtha ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตเคมีภัณฑ์และพลาสติก Bio-PE (Bio-Polyethylene) สำหรับผลิตถุงพลาสติก ฟิล์ม และบรรจุภัณฑ์อาหาร และ Bio-MEG (Bio-Monoethylene Glycol) สำหรับผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และขวดพลาสติก PET ในอนาคตอีกด้วย
อีกทั้งโรงกลั่นชีวภาพของ GC มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรและของเสียในประเทศ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณสมบัติเทียบเท่าวัสดุจากฟอสซิล แต่ปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญช่วยลดปัญหาของเสีย เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับเป้าหมายของ GC ในการเป็นผู้นำธุรกิจคาร์บอนต่ำที่เติบโตอย่างยั่งยืน
นายทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ PTTGC กล่าวว่า GC ไม่เพียงเป็นผู้ผลิต SAF รายแรกของประเทศ แต่เรายังเดินหน้าต่อยอดศักยภาพของ Biorefinery เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพที่สามารถทดแทนวัตถุดิบจากฟอสซิล ตอบโจทย์ทั้งตลาด ความยั่งยืน และอนาคตของอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างน้ำมันพืชใช้แล้วในการผลิตสินค้ามูลค่าสูง สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่ประเทศไทยผลักดัน และเดินหน้าตามกลยุทธ์ขยายธุรกิจมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำของ GC
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ชีวภาพของ GC ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากลด้านความยั่งยืนอย่าง ISCC PLUS (International Sustainability and Carbon Certification Plus) ซึ่งมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบชีวภาพและวัสดุหมุนเวียนในกระบวนการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ ช่วยให้แบรนด์ผู้ผลิตสินค้าปลายทางสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมั่นใจ
อนึ่ง GC ยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งมอบโซลูชันเคมีภัณฑ์ครบวงจรที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ตอกย้ำบทบาทของบริษัทในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง