
AOT ตั้ง “ปวีณา จริยฐิติพงศ์” นั่งรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ หลัง ดร.กีรติ ลาออกผอ.
บอร์ด AOT แต่งตั้ง “ปวีณา จริยฐิติพงศ์” นั่งรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ มีผล 24 เม.ย.68 สานต่อภารกิจพัฒนาบริษัทสู่ศูนย์กลางการบินระดับโลก แทน ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ก้าวลงจากตำแหน่งผอ. ทอท. ด้วยภาระครอบครัว
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (วันที่ 23 เมษายน 2568) ในการประชุมคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) ครั้งที่ 5/2568 ในวันพุธที่ 23 เมษายน 2568 ซึ่งมีนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย ประธานกรรมการ ทอท. เป็นประธาน ที่ประชุมได้รับทราบการลาออกของ นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ จากการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ตามสัญญาจ้างผู้บริหาร ฉบับลงวันที่ 21 มีนาคม 2566 โดยมีเหตุอันสมควรเนื่องจากมีความจำเป็นต้องดูแลบิดาและมารดา ซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคชรา รวมทั้งการลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ทอท. การดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการชุดย่อย และคณะอนุกรรมการที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ทอท. ในทุกชุดที่ดำรงตำแหน่งในฐานะกรรมการ ทอท. โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2568 เป็นต้นไป
ด้านที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติแต่งตั้งให้นางสาวปวีณา จริยฐิติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2568 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.คนใหม่
อย่างไรก็ดี AOT ขอแจ้งให้ทราบว่า ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งแล้ว โดยมีผลในวันที่ 24 เมษายน 2568 ด้วยสาเหตุมีความจำเป็นต้องดูแลบิดาและมารดาซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคชรา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในช่วงเวลานี้ การก้าวลงจากตำแหน่งของ ดร.กีรติ ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ อย่างไรก็ตาม AOT จะยังคงต่อยอดนโยบายการยกระดับมาตรฐานการให้บริการสนามบินในฐานะศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไปภายใต้การบริหารงานของ ดร.กีรติ ที่มุ่งมั่นพัฒนายกระดับสนามบินไทยไปสู่ศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ในฐานะประตูต้อนรับผู้เดินทางจากทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนภาคเศรษฐกิจ สังคม และ
โดยการท่องเที่ยว เพื่อการเติบโตที่มั่งคงและยั่งยืน โดยในปี 2568 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยได้รับการจัดอันดับจาก Skytrax ให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Airport) ในอันดับที่ 39 ขยับขึ้นจากอันดับที่ 58 โดยขึ้นมา 19 อันดับจากปีก่อน และยังได้รับการจัดอันดับสนามบินที่พัฒนาได้ดีที่สุดของโลก (The World’s most Improved Airport) ในอันดับที่ 3
รวมทั้งยังได้รับรางวัลสนามบินที่สวยที่สุดในโลก (The World Most Beautiful List 2024) สาขาสถาปัตยกรรมดีเด่นด้านรูปลักษณ์อาคาร (Exterior) จากคณะกรรมการ The Prix Versailles Selection Committee ร่วมกับ UNESCO ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ติดอันดับ 8 ของสนามบินสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Low-Cost Airline Terminals) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคและ
มีท่าอากาศยานของไทยติดอันดับ 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก และยังได้มีการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite1 – SAT1) และทางวิ่งเส้นที่ 3 ทสภ.เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของ AOT ในการรองรับอนาคตการเดินทางของผู้โดยสารจากทั่วโลก
นอกจากนี้ ดร.กีรติ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมในอุตสาหกรรมการบินเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้โดยสารและแก้ปัญหาความแออัดภายในสนามบิน ก้าวสู่ยุค Digital Transformation อย่างแท้จริง ครอบคลุมท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง เช่น การนำเอาระบบ Biometric มาใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสารเพื่ออำนวยความสะดวก การเช็กอินด้วยความสะดวกผ่านระบบ CUSS / CUBD เป็นต้น
โดยตระหนักถึงความยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนสนามบินของ AOT สู่การเป็นต้นแบบท่าอากาศยานสากลชั้นนำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Airport) โดยได้ผลักดันให้ ทสภ.เป็นสนามบินแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้พลังงานสะอาดมาผลิตพลังงานไฟฟ้า 37.81 เมกะวัตต์
รวมถึงการมีนโยบายเปลี่ยนยานพาหนะในสนามบินทั้งหมดเป็นระบบยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการติดตั้งสถานี EV Charge สำหรับรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า อีกด้วย แม้จะยังมีโครงการสำคัญอีกมากที่อยู่ระหว่างการดำเนินการและต่อยอดแต่การเปลี่ยนผ่านนี้จะไม่หยุดยั้งการพัฒนา AOT ในการเป็นองค์กรที่นำหน้าในด้านการบินและการบริการสนามบิน โดยจะยังคงเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืนและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและเศรษฐกิจในระดับโลกต่อไป