“ดาวโจนส์” ปิดบวก 487 จุด รับแรงซื้อกลุ่มเทคโนโลยีหนุน หลังกำไร Q1 แกร่ง

“ดาวโจนส์” ปิดบวก487 จุด รวมถึง “Nasdaq” พุ่ง 2.79% นักลงทุนเก็งกำไรหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี รับผลประกอบการไตรมาส 1/68 เติบโตแข็งแกร่ง โดยเฉพาะ “Meta” และ “ServiceNow” จุดกระแสความเชื่อมั่นให้นักลงทุนกลับเข้าซื้อหุ้นอีกครั้ง แม้จีนจะปฏิเสธข่าวเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ


ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวกแรงในวันพฤหัสบดี (24 เม.ย.68) นำโดยหุ้นเทคโนโลยี หลังบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Meta และ ServiceNow รายงานกำไรไตรมาสแรกแข็งแกร่งกว่าคาด แม้ความหวังต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะลดลง หลังทางการปักกิ่งออกแถลงว่ายังไม่มีการหารือใด ๆ กับรัฐบาลวอชิงตันในขณะนี้

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (.DJI) ปิดที่ 40,093.40 จุด เพิ่มขึ้น 83 จุด หรือ +1.23%
  • ดัชนี S&P 500 (.SPX) ปิดที่ 5,484.77 จุด เพิ่มขึ้น 91 จุด หรือ +2.03%
  • ดัชนี Nasdaq Composite (.IXIC) ปิดที่ 19,214.40 จุด เพิ่มขึ้น 14 จุด หรือ +2.79%

ผลประกอบการของ ServiceNow บริษัทซอฟต์แวร์สัญชาติสหรัฐฯ เผยกำไรสุทธิ 347 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 150 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ 2.60 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 24.2% จากปีก่อนหน้า

ด้าน Meta Platforms รายงานรายได้รวม 36.46 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 27.3% จากปีก่อนหน้า โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของบริการโฆษณาและการนำ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มายกระดับการให้บริการ ทำให้กำไรต่อหุ้นออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด

ทั้งสองบริษัทได้รับปัจจัยบวกจากการลงทุนในเทคโนโลยี AI และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้นักลงทุนแห่กลับมาซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ อีกครั้ง หลังถูกเทขายอย่างหนักก่อนหน้านี้จากความกังวลเรื่องทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเริ่มกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง หลังโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุว่า “ไม่มีการเจรจาทางการค้าใด ๆ เกิดขึ้นในขณะนี้” ซึ่งขัดแย้งกับคำกล่าวอ้างของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระบุว่า สองประเทศกำลังอยู่ระหว่างหารือในประเด็นภาษี

แม้จะมีแรงขายจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่ตลาดเลือกตอบรับข่าวบวกจากฝั่งบริษัทเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการหนุนดัชนีทะยานขึ้นแรง

นักวิเคราะห์หลายสำนักเตือนว่า ความผันผวนในตลาดการเงินโลกยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะเมื่อท่าทีด้านนโยบายการค้าระหว่างสองมหาอำนาจยังไร้ข้อยุติที่ชัดเจน

Back to top button