
หุ้นอิเล็ก-เครื่องดื่ม-ยางพารา-เนื้อสัตว์วิ่งคึก! รับยอดส่งออกมี.ค.โต 17.8% นิวไฮรอบ 3 ปี
9 หุ้นกลุ่มหุ้นอิเล็กฯ-เครื่องดื่ม-ยางพารา เนื้อสัตว์ บวกยกแผง ตอบรับตัวเลขส่งออกไทย เดือนมี.ค.68 ขยายตัว 17.8% ต่อเนื่องทำนิวไฮรอบ 3 ปี ดันมูลค่าการส่งออกทะลักระดับ 29,000 ล้านดอลลาร์
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (25 เม.ย.68) ราคาหุ้นกลุ่ม อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องดื่ม ยางพารา และ ส่งออกเนื้อสัตว์ ปรับตัวขึ้น ณ เวลา 10:30 น. ตอบรับตัวเลข ส่งออกไทย ประจำเดือน มี.ค.68 ขยายตัว 17.8% นำโดย บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE อยู่ที่ระดับ 17.50 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 2.94% สูงสุดที่ระดับ 17.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 17.20 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 43.96 ล้านบาท
บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA อยู่ที่ระดับ 19.40 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 2.65% สูงสุดที่ระดับ 19.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 19.10 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 63.51 ล้านบาท
บริษัท ไทย โคโคนัท จำกัด (มหาชน) หรือ COCOCO อยู่ที่ระดับ 7.10 บาท บวก 0.35 บาท หรือ 5.19% สูงสุดที่ระดับ 7.20 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 6.80 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 66.36 ล้านบาท
บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MALEE อยู่ที่ระดับ 7.25 บาท บวก 0.15 บาท หรือ 2.11% สูงสุดที่ระดับ 7.30 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 7.05 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3.63 ล้านบาท
บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA อยู่ที่ระดับ 13.60 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 0.74% สูงสุดที่ระดับ 13.60 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 13.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3.46 ล้านบาท
บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER อยู่ที่ระดับ 4.18 บาท บวก 0.02 บาท หรือ 0.48% สูงสุดที่ระดับ 4.18 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 4.16 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.37 ล้านบาท
บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT อยู่ที่ระดับ 9.80 บาท บวก 0.05 บาท หรือ 0.51% สูงสุดที่ระดับ 9.85 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 9.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.72 ล้านบาท
บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC อยู่ที่ระดับ 13.30 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 1.53% สูงสุดที่ระดับ 13.40 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 13.10 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 8.16 ล้านบาท
บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI อยู่ที่ระดับ 4.42 บาท บวก 0.02 บาท หรือ 0.45% สูงสุดที่ระดับ 4.44 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 4.38 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 4.34 ล้านบาท
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน มี.ค. 68 พบว่าการส่งออกมีมูลค่า 29,548 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.80% สูงกว่าตลาดคาดที่ 10.70-13% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และขยายตัวในระดับตัวเลขสองหลักต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
โดยมูลค่าการส่งออกในเดือน มี.ค. ในระดับ 29,000 ล้านดอลลาร์นี้ ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่อัตราการขยายตัวที่ 17.80% นั้น ถือว่าสูงสุดในรอบ 36 เดือน (3 ปี) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 28,575 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.20% ส่งผลให้เดือนนี้ไทยเกินดุลการค้า อยู่ที่ 973 ล้านดอลลาร์
สำหรับช่วงไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค. 68) การส่งออกมีมูลค่ารวม 81,532 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.20% การนำเข้ามีมูลค่ารวม 80,451 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7.40% ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปีนี้ ไทยเกินดุลการค้า 1,081 ล้านดอลลาร์
โดยพาณิชย์เชื่อว่าการส่งออกของไทยในเดือน เม.ย. 68 ยังมีแนวโน้มที่ดี เพียงแต่อาจไม่ขยายตัวได้สูงถึงระดับตัวเลขสองหลัก พร้อมเชื่อมั่นว่าการส่งออกของไทยทั้งปีนี้ จะสามารถขยายตัวได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2-3%
“หากสถานการณ์ไม่ผันผวน เชื่อว่าการส่งออกจะยังเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ซึ่ง 3 เดือนแรก เห็นชัดแล้วว่าโตถึง 15.2% ขณะที่เดือน มี.ค. มูลค่าทะลุ 29,000 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และเชื่อว่าการส่งออกในไตรมาสแรกนี้ จะเป็นแรงที่ช่วยขับเคลื่อนให้ GDP ไตรมาส 1 ปีนี้ เติบโตได้ 3%” นายพิชัย กล่าว
ขณะที่ การส่งออกของไทย ได้รับแรงหนุนหลักจาก สินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ จีนและสหภาพยุโรป เนื่องจากประเทศคู่ค้าเหล่านี้มีการเร่งตัวด้านการผลิต สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางความพยายามในการรับมือกับความเสี่ยงจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้มีการเร่งนำเข้าสินค้า เพื่อรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิตและบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุน และราคาสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) สรุปภาพรวมการส่งออกเดือนมี.ค. 68 พบว่า ยอดส่งออกเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 17.80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 10.70% เฉลี่ยไตรมาส 1/68 ส่งออกเพิ่มขึ้น 15.20% ยอดนำเข้าเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 14.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดีกว่าตลาดคาดที่ 6.30% ขณะที่ดุลการค้า ไทยเกินดุล 973 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 900 ล้านดอลลาร์ฯ (เดือนก่อนหน้าสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์)
สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกที่เติบโตสูง (เดือน มี.ค.) ได้แก่ 1. กลุ่มที่เติบโตโดดเด่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เพิ่มขึ้น 80.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 41.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ HANA และ KCE
2.กลุ่มที่เติบโตระดับกลาง สินค้าประเภทน้ำมะพร้าวส่งออกเพิ่มขึ้น 29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ย ไตรมาส 1/68 เพิ่มขึ้น 49% จำแนกตามประเทศ ส่งออกไปจีน เพิ่มขึ้น 49% สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 22% เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 33% เป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มเครื่องดื่ม/ผลไม้แปรรูป อาทิ MALEE และ COCOCO
ขณะที่ สินค้าประเภทยางพาราส่งออกเพิ่มขึ้น 19.50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นบวกต่อ STA, NER สินค้าประเภท ไก่สดแช่เย็น/แช่แข็ง ส่งออกเพิ่มขึ้น 5.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นบวกต่อ CPF GFPT สินค้าประเภทอาหารสัตว์เลี้ยง ส่งออกเพิ่มขึ้น 12.50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นบวกเล็กน้อยต่อ AAI และ ITC
ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบเชิงมหภาคยอดส่งออกที่ดีกว่าคาด มีแนวโน้มสนับสนุนการเติบโตของ GDP ไตรมาส 1/68 เป็นจิตวิทยาบวกต่อกลุ่มธนาคาร เช่น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK สำหรับกลยุทธ์การลงทุนระยะสั้น แนะนำ “เก็งกำไร” หุ้นกลุ่มส่งออกที่ได้ประโยชน์จากยอดส่งออกเติบโต ได้แก่ KCE (กลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า) CPF และ GFPT (กลุ่มอาหาร) และ MALEE (กลุ่มน้ำมะพร้าว)