
NTFG ยื่นไฟลิ่งขายไอพีโอ 60 ล้านหุ้น ระดมทุน mai ขยายฐานส่งออกผลไม้พรีเมียม
“เอ็นทีเอฟ อินเตอร์กรุ๊ป หรือ NTFG” ยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต. เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 60 ล้านหุ้น นำเงินขยายวอลุ่มส่งออกทุเรียนและผลไม้พรีเมียม สร้างการต่อยอดการเติบโตของธุรกิจแบบยั่งยืน
นางสาวสุวิมล ศรีโสภาจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท เอ็นทีเอฟ อินเตอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ของ บริษัท เอ็นทีเอฟ อินเตอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และยื่นคำขอให้รับหุ้นสามัญเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 100,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 200,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท เป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 70,000,000 บาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 60,000,000 หุ้น หรือคิดเป็น 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการ IPO ในครั้งนี้ ซึ่งจะนำหุ้นสามัญทั้งหมดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยใช้ชื่อย่อว่า “NTFG”
สำหรับ “NTFG” มีวัตถุประสงค์นำเงินไปใช้ในการลงทุนในเครื่องมือและอุปกรณ์การผลิตเพื่อพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อส่งเสริมโอกาสในการขยายการผลิตได้มากขึ้น และชำระเงินกู้ยืมกับสถาบันการเงินบางส่วน ซึ่งที่ผ่านมา “NTFG” มีผลประกอบการการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2565 มีรายได้จากการขาย 347 ล้านบาท ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 563 ล้านบาท และในปี 2567 มีรายได้จากการขาย 1,115 ล้านบาท
นายวิชัย ศิระมานะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “NTFG” ผู้ส่งออกผลไม้สดและแช่แข็งเกรดพรีเมี่ยม กล่าวว่าที่ผ่านมาบริษัทฯ มีรายได้จากการขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2565-2567 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 79.3% อันมาจากกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนมีความต้องการทุเรียนและผลไม้สดของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลยุทธ์ของ NTFG ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพสินค้าที่ผ่านมาตรฐานสินค้าเกษตร เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ด้านรูปลักษณ์และรสชาติที่ตรงความต้องการของผู้บริโภค และด้านคุณภาพการบริการโดยสามารถจัดส่งสินค้าได้รวดเร็วและตรงจำนวนที่ต้องการ
ทั้งนี้ ธุรกิจจำหน่ายผลไม้เพื่อการส่งออกจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียน ส่งผลให้ที่ผ่านมาบริษัทฯ ยังผลิตสินค้าได้จำนวนจำกัดไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้มีปัจจัยด้านเงินทุนแต่ด้วยแผนงานและพันธมิตรที่ดีทำให้ “NTFG” สามารถสร้างรายได้ที่เติบโตต่อเนื่องเสมอมา ซึ่งเงินที่ได้จากการระดมทุนในตลาดทุนในครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทฯ ขยายการผลิตตามความต้องการของลูกค้าโดยเฉพาะในประเทศจีนที่เป็นตลาดหลักได้มากขึ้น สามารถรองรับการขยายตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากประเทศจีน และยังส่งเสริมให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาการผลิตสินค้าใหม่ ๆ ควบคู่การลงทุนในเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้สามารถผลิตสินค้ามีคุณภาพที่ดีอย่างสม่ำเสมอเพิ่มขึ้น ช่วยต่อยอดการเติบโตของธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย พร้อมสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมผลไม้ ตามวิสัยทัศน์ที่ต้องการยกระดับผลไม้ไทยสู่อุตสาหกรรมระดับสากล
ในปี 2567 “NTFG” มีการส่งออกสินค้าไปยังตลาดหลักประเทศจีน ได้แก่ ทุเรียน 91% ลำไย 5% มะพร้าว ชมพู่ และ ผลไม้อื่น ๆ ประมาณ 2% ส่วนทุเรียนแช่แข็งอยู่ที่ประมาณ 2% ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสินค้าของ “NTFG” มีการผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ 6 แบรนด์ และแบรนด์ของลูกค้าพันธมิตรอีก 1 แบรนด์ ซึ่งได้รับความนิยมในตลาดสำคัญอย่างประเทศจีนอย่างมาก จากสินค้าที่ตรงตามความต้องการของตลาดและคุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐานตามที่บริษัทกำหนด
ด้านนายอิศรา ภูววิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ “NTFG” กล่าวถึงการผลิตสินค้าของ “NTFG” ว่า บริษัทฯ ผลิตสินค้าแบบห่วงโซ่อุปทานที่มีการควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยวางระบบมาตรฐาน 2Q2T หรือ NTF Standard เป็นหัวใจสำคัญให้กับโรงคัดบรรจุที่เชี่ยวชาญในการคัดเลือกและผลิตสินค้าตรงตามความต้องการของตลาด ได้แก่ Quality (คุณภาพ) สินค้าต้องมีรสชาติอร่อยและรูปลักษณ์สวยงาม Quantity (ปริมาณ) จัดหาสินค้าคุณภาพตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการได้อย่างครบถ้วน Time (เวลา) ควบคุมเวลาในทุกกระบวนการ เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อสินค้าถึงมือผู้บริโภคจะมีความสุกและพร้อมรับประทานในเวลาที่เหมาะสม และ Temperature (อุณหภูมิ) ควบคุมอุณหภูมิในทุกขั้นตอน ที่ต้องรักษาความสดใหม่และคุณภาพของสินค้าเสมอเมื่อถึงมือผู้บริโภค นอกจากนี้ ในทุกกระบวนการจะต้องมีความปลอดภัยด้านอาหาร ปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตรายเจือปน ไม่ว่าจะเป็นสารย้อมสีหรือโลหะหนัก โดยมาตรฐานนี้นอกจากจะเป็นแนวทางการผลิตเพื่อให้โรงคัดบรรจุผลิตสินค้าได้ตามความต้องการแล้ว ยังเป็นข้อมูลลักษณะของสินค้าที่เป็นความต้องการของตลาดที่โรงคัดบรรจุซึ่งเป็นผู้ผลิตนำไปส่งต่อให้เกษตรกรดูแลผลผลิตได้ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายได้มากขึ้นจากคุณภาพสินค้าที่ตลาดต้องการ
นอกจากนี้ “NTFG” ยังมีแนวคิดในการพัฒนาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าร่วมกับโรงคัดบรรจุ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดเวลาและขั้นตอนการผลิต รวมถึงการคัดกรองและรักษาคุณภาพมาตรฐานทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ ให้มีมาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทยที่ส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศได้มากขึ้นในอนาคต