
พาณิชย์ชี้ “ขนส่งอากาศไทย” ปีทอง 68! ลุ้นกำไรทะลุ 3.66 หมื่นล้านเหรียญ
กระทรวงพาณิชย์ ชี้ธุรกิจการขนส่งทางอากาศไทยโตต่อเนื่อง มั่นใจปี 68 ปีทองรายได้ทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ดันกำไรทะลุ 3.66 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังประกอบการโตต่อเนื่อง 3 ปี (2564-2566) ทั้งรายรับและผลกำไร รายรับเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 2.69 แสนล้านบาท ผลกำไรเฉลี่ย 5.64 หมื่นล้านบาท พร้อมตั้งเป้าศูนย์กลางการบินโลกปี 76
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2568 นับเป็นปีทองของธุรกิจการขนส่งทางอากาศไทย ทั้งในแง่ของผลประกอบการและผลกำไรที่ผ่านมา และคาดว่าปี 2568 นี้ จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศโลก ที่คาดว่าปี 2568 จะมีรายได้รวมทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลกำไรรวมประมาณ 3.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จำนวนผู้โดยสารเกินกว่า 5.2 พันล้านคน และปริมาณขนส่งสินค้าทางอากาศจะสูงถึง 72.5 ล้านต้น ส่งผลให้ปี 2568 ธุรกิจการขนส่งทางอากาศเป็นธุรกิจดาวเด่นทั้งของไทยและของโลก และคาดว่าจะมีอัตราการแข่งขันทางการตลาดที่สูงเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
สำหรับประเทศไทย ธุรกิจการขนส่งทางอากาศเป็นธุรกิจที่มีผู้เล่นในตลาดน้อยราย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง อีกทั้งต้องมีการรักษาคุณภาพการให้บริการให้เป็นไปตามมาตรฐานการบินโลก ส่งผลให้แต่ละปีมีจำนวนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ยังไม่มากนัก ปี 2565 จัดตั้งนิติบุคคลใหม่ 4 ราย ทุนจดทะเบียน 12.00 ล้านบาท ปี 2566 จัดตั้ง 9 ราย (เพิ่มขึ้น 5 ราย หรือ 125%) ทุน 411.25 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 399.25 ล้านบาท หรือ 3,327.09%) ปี 2567 จัดตั้ง 7 ราย (ลดลง 2 ราย หรือ 22.23%) ทุน 7.60 ล้านบาท (ลดลง 403.65 ล้านบาท หรือ 98.15%) ปี 2568 (มกราคม – มีนาคม) จัดตั้ง 1 ราย ทุนจดทะเบียน 2 แสนบาท
ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจการขนส่งทางอากาศของไทยมีมูลค่ารวม 7,146.35 ล้านบาท คิดเป็น 13.36% ของการลงทุนทั้งหมดในธุรกิจฯ ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน ลงทุน 215.16 ล้านบาท สวิส 206.25 ล้านบาท และ มาเลเซีย 204.62 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการรวมของธุรกิจฯ เฉลี่ย 3 ปี (2564 – 2566) อยู่ที่ 268,962.45 ล้านบาท และผลกำไรรวมเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 56,424.87 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2564 ผลประกอบการรวมทั้งธุรกิจ 190,058.05 ล้านบาท ผลกำไรรวมทั้งธุรกิจ 69,578.07 ล้านบาท ปี 2565 ผลประกอบการรวม 245,459.82 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 55,401.77 ล้านบาท หรือ 29.15%) ผลกำไรรวม 25,836.18 ล้านบาท (ลดลง 43,741.89 ล้านบาท หรือ 62.87%) และ ปี 2566 ผลประกอบการรวม 371,369.48 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 125,909.66 ล้านบาท หรือ 51.30%) ผลกำไรรวม 73,860.34 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 48,024.16 ล้านบาท หรือ 185.88%) สะท้อนศักยภาพและความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการขนส่งทางอากาศที่กลับมาฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 ที่ทำให้การขนส่งผู้โดยสารชะลอตัว ขณะเดียวกัน ธุรกิจ e-Commerce ก็มีส่วนช่วยให้การขนส่งสินค้าทางอากาศได้รับความนิยมและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเวลานั้นเช่นเดียวกัน
โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568) ประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจการขนส่งทางอากาศ จำนวน 141 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 53,498.83 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ บริษัทจำกัด 128 ราย (90.78%) ทุน 10,365.13 ล้านบาท (19.38%) ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วน 9 ราย (6.38%) ทุน 17.26 ล้านบาท (0.04%) และ บริษัทมหาชนจำกัด 4 ราย (2.84%) ทุน 43,116.45 ล้านบาท (80.58%)
จากข้อมูลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พบว่า ปี 2567 ไทยมีจำนวนผู้โดยสารเดินทางทางอากาศรวม 141 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16% จากปี 2566 (ปี 2566 จำนวนผู้โดยสาร 122 ล้านคน) มีเที่ยวบินรวม 886,438 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปี 2566 และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศอยู่ที่ 1.51 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่า 22% (ปี 2566 ปริมาณขนส่งทางอากาศ 1.24 ล้านตัน) ทั้งนี้ การขยายตัวที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเปิดประเทศ การยกเว้นวีซ่าในหลายประเทศ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และแรงผลักจากตลาด e-Commerce
ธุรกิจการขนส่งทางอากาศเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศทั้งด้านการเดินทางและการขนส่งสินค้า โดยไทยได้ตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางทางการบินระดับภูมิภาค และมีศักยภาพก้าวขึ้นอันดับที่ 9 ของตลาดการบินโลก ภายในปี 2576 (ปัจจุบันไทยอยู่ในอันดับที่ 19 ของตลาดการบินโลก) โดย SCB EIC มองว่าปัจจัยที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีโอกาสก้าวสู่การเป็นผู้นำหรือศูนย์กลางทางการบินระดับภูมิภาค ประกอบด้วย
1.ประสิทธิภาพในการให้บริการและการเชื่อมต่อของสนามบิน โดยภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกัน ควบคู่การนำเทคโนโลยีมายกระดับการให้บริการและลดต้นทุน
2.ความเข้มแข็งของสายการบินสัญชาติไทย พบว่า สนามบินที่มีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก พึ่งพาสายการบินหลักของประเทศประมาณ 50% ขณะที่ไทยยังพึ่งพาไม่มากและยังขาดเที่ยวบินตรงไปยังหลายจุดหมายปลายทางที่สำคัญของโลก
3.ความต่อเนื่องในการพัฒนาสนามบินและโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง เพื่อปลดล็อคขีดจำกัดในการให้บริการของสนามบินไทยที่ค่อนข้างหนาแน่น
4.การสร้างฮับการบินที่โดดเด่นด้าน ESG อาจเริ่มจากการเสนอบริการที่รองรับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมหรือแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เข้มงวดมากขึ้น และหาโอกาสจากค่าชดเชยคาร์บอนที่สายการบินต้องจ่าย
5.การเพิ่มความยืดหยุ่นเพื่อรองรับความเสี่ยงจากปัญหา Disruption ที่สูงขึ้น เช่น การออกแบบฮับการบินที่มีเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างสนามบินหลายแห่งและระหว่างสายการบิน โดยให้ความสำคัญของการบินแบบ Point-to-Point และขยายการขนส่งสินค้าทางอากาศ
ทั้งนี้ ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางวิ่งสนามบิน ระบบการจราจรทางอากาศ และภาคเอกชนมีบทบาทด้านการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง 2 ภาคส่วนต้องร่วมกันเสริมแกร่งสายการบินสัญชาติไทย การขยายเครือข่ายเที่ยวบินตรง และการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มขีดความสามารถ ด้วยวิสัยทัศน์ ที่ชัดเจนและการทำงานร่วมกันอย่างแน่นแฟ้นเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด และสร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศของไทย ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน
เช่น ต้นทุนการบินที่เพิ่มสูงขึ้นที่ภาคธุรกิจต้องควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของราคาน้ำมัน และภาษีศุลกากรของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ธุรกิจการบินไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้