
“ประเสริฐ” ลงพื้นที่นครพนม ดันโครงการ “Coding for Better Life” ปั้นทักษะดิจิทัลเด็กไทย
ประเสริฐ จันทรรวงทอง ลงพื้นที่โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จ.นครพนม ติดตามโครงการ Coding for Better Life เสริมทักษะด้านดิจิทัลแก่เด็กไทย พร้อมสร้างรากฐานอนาคตของประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (28 เม.ย.68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนิน โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ณ โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย ในอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
โดยมี นายวรวิทย์ พิมพนิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ นางจันทร์จิรา ไชยบุรมย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนปิยะมหาราชาลัย รวมถึงข้าราชการและผู้บริหารหน่วยงานในพื้นที่ คณะครูและนักเรียนร่วมให้การต้อนรับ ซึ่งภารกิจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจราชการและติดตามผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่าง ๆ ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 ในวันอังคารที่ 29 เมษายนนี้ที่หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม
นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการยกระดับความรู้และทักษะด้านดิจิทัลแก่คนไทยทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย โดยโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ที่ดำเนินการโดย ดีป้า คือหนึ่งในโครงการที่มุ่งสร้างครูผู้สอนให้มีความพร้อมถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านโค้ดดิ้งแก่นักเรียนรุ่นต่อรุ่น
พร้อมกันนี้ ยังยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อมรองรับการเรียนการสอน ซึ่งทั้งหมดจะช่วยสร้างเมล็ดพันธุ์ดิจิทัลที่มีความพร้อมต่อการสร้างรากฐานอนาคตของประเทศ และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนกำลังคนดิจิทัล สอดคล้องกับเป้าหมายในการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ ตามนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกระทรวง
โดยปัจจุบันทักษะดิจิทัลไม่ใช่เพียงการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่เป็นการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ที่สามารถเปลี่ยนชีวิต สร้างอาชีพ และยกระดับประเทศได้ เรากำลังร่วมกันวางรากฐานเพื่อให้เยาวชนไทยมีศักยภาพแข่งขันบนเวทีโลก และขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการดี ๆ อย่าง ODOS Summer Camp ค่ายแห่งโอกาสภาคฤดูร้อน หลักสูตรระยะสั้น 6 สัปดาห์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้แก่เยาวชนไทยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อสร้างทัศนคติใหม่ เปิดโลกดิจิทัลสู่โอกาสในการพัฒนาบ้านเกิด เชื่อมโยงบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก มหาวิทยาลัยชั้นนำ และประเทศไทยเข้าด้วยกัน
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนากำลังคนดิจิทัล และนำเสนอการศึกษารูปแบบใหม่ กระจายโอกาสอย่างทั่วถึงเท่าเทียมในทุกพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลและภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเราเชื่อว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นโอกาสของประเทศไทย และแน่นอนว่าจะเป็นโอกาสที่มีค่าสำหรับเด็กไทยทุกคนที่เข้าร่วมโครงการ ช่วยเปิดโลกกว้าง รับแรงบันดาลใจสู่อนาคตที่เลือกเอง น้อง ๆ ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้แล้ววันนี้ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ
ด้าน นายพรชัย กล่าวว่า โครงการ Coding for Better Life สนับสนุนหลักสูตรพิเศษจากเครือข่ายพันธมิตรกว่า 20 หลักสูตร และอุปกรณ์ดิจิทัลประกอบการเรียนการสอน ซึ่งดำเนินการในโรงเรียน 1,500 แห่งทั่วประเทศ สามารถพัฒนาการเรียนโค้ดดิ้งและความรู้และทักษะสู่นักเรียนกว่า 300,000 คน ยกระดับทักษะครูผู้สอนกว่า 3,000 คนให้สามารถพัฒนาหลักสูตรและคู่มือการสอน นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น Coding Bootcamp & Coding Roadshow และ Coding War ใน 8 ภูมิภาคทั่วประเทศ
โดยมีครูและนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการรวมกว่า 3,200 คนร่วมกิจกรรม Coding Bootcamp เพื่อเรียนรู้ทักษะโค้ดดิ้งเข้มข้น ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าของประเทศ และสร้างสรรค์ผลงานด้านโค้ดดิ้ง
พร้อมกันนี้ยังมีพ่อแม่ ผู้ปกครอง และประชาชนที่สนใจร่วมกิจกรรม Coding Roadshow ที่จัดควบคู่กับ Coding Bootcamp ทั้งในรูปแบบ On-site และ Online รวมกว่า 1.16 แสนคน ขณะที่กิจกรรม Coding War มีครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาร่วมกิจกรรมกว่า 5,000 คน หรือ 1,250 ทีมจากทั่วประเทศ จากนั้นคัดเหลือ 100 ทีมเข้าสู่กิจกรรมพัฒนาศักยภาพด้านโค้ดดิ้งเข้มข้น ก่อนร่วมแข่งขันในรายการ Coding War รอบชิงชนะเลิศ โดยมีเพียง 10 สุดยอดทีมในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาได้รับทุนการศึกษาและอุปกรณ์ดิจิทัล รวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาทเป็นรางวัล และเกิดผลงานโค้ดดิ้งที่ได้รับการสร้างสรรค์โดยครู นักเรียนจากทั่วประเทศผ่านโครงการ Coding for Better Life กว่า 900 ผลงาน
ขณะที่ นายสมหวัง หล้าสมบัติ รองผู้อำนวยการ โรงเรียนปิยะมหาราช กล่าวว่า โครงการ Coding for Better Life เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับพื้นที่การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับนักเรียนทุกระดับชั้นได้มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้ง ซึ่งถือเป็นทักษะสำคัญในยุคดิจิทัล เพื่อให้นักเรียนนำความรู้พื้นฐานไปต่อยอดและพัฒนาชุมชนในจังหวัดนครพนมให้สามารถขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ได้ในอนาคต
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี และคณะยังได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานด้านโค้ดดิ้งของนักเรียนโรงเรียนปิยะมหาราชาลัย อาทิ โครงงาน AI ในการตรวจโรคปลานิล ซึ่งเป็นโครงงานที่ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการแข่งขันโครงงานของเยาวชนระดับภูมิภาคที่จังหวัดอุบลราชธานี โครงงานเครื่องตรวจจับสิ่งกีดขวางสำหรับคนตาบอด โครงงานเครื่องตรวจจับฝุ่น PM2.5 โครงงานเครื่องสแกนใบหน้าเพื่อคัดกรองอายุ และโครงงานลานจอดรถอัจฉริยะ พร้อมร่วมพูดคุยกับน้อง ๆ นักเรียนและครูผู้สอนอย่างใกล้ชิด