พาราสาวะถี อรชุน

อธิบายให้กระจ่างชัดไม่ใช่บังคับใช้รัฐธรรมนูญ2-3ขยัก แต่เป็นการพักใช้บางมาตราที่กำหนดห้วงระยะเวลาไว้เบ็ดเสร็จ 5 ปี คำยืนยันของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นนี้คงไม่มีใครตั้งคำถามต่อ เพราะนี่คือเจตนาในการจะรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ทั้งๆ ที่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาแตะมือรัฐบาลจากรัฐประหารแล้วก็ตาม หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติและนำไปสู่การเลือกตั้ง


อธิบายให้กระจ่างชัดไม่ใช่บังคับใช้รัฐธรรมนูญ2-3ขยัก แต่เป็นการพักใช้บางมาตราที่กำหนดห้วงระยะเวลาไว้เบ็ดเสร็จ 5 ปี คำยืนยันของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่นนี้คงไม่มีใครตั้งคำถามต่อ เพราะนี่คือเจตนาในการจะรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ทั้งๆ ที่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาแตะมือรัฐบาลจากรัฐประหารแล้วก็ตาม หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติและนำไปสู่การเลือกตั้ง

เจตนาที่ยังไม่ยอมปล่อยวางอำนาจ จะอธิบายมุมไหนก็คงจะไม่ให้คนคิดว่าไม่ใช่การสืบทอดอำนาจคงไม่ใช่ เพราะการยกเว้นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญบางส่วน แล้วมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มันก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการลิดรอนอำนาจของประชาชนที่มอบหมายให้ตัวแทนของตัวเองไปปฏิบัติหน้าที่บริหารประเทศ เว้นเสียแต่ว่าผู้มีอำนาจปัจจุบันจะเห็นว่า รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาอย่างไรเสียก็หนีไม่พ้นเป็นลูกไล่เผด็จการ นั่นก็อีกเรื่อง

แนวคิดที่ไม่ต้องปิดกันเช่นนี้ ทางที่ดีก็ไม่ควรจะให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญจนนำไปสู่การทำประชามติ ให้เป็นหน้าที่ขององค์รัฎฐาธิปัตย์นั่นแหละที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 บังคับให้เกิดการเลือกตั้ง จากนั้นก็มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยต้องทำตามเงื่อนไขความต้องการของผู้มีอำนาจที่อยากเห็นบ้านเมืองสงบ และในระหว่างนั้นอาจจะจัดให้มีกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญไปด้วยน่าจะดีกว่า

พอออกมาในรูปแบบนี้สิ่งที่คิดกันต่อไปก็คือ การขอความร่วมมือให้ มีชัย ฤชุพันธุ์ บรรจุสิ่งที่ร้องขอทั้ง 16 ข้อไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แล้วนำไปสู่การทำประชามติ จากนั้นก็ใช้วิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ประชาชนรับ เพราะนั่นเท่ากับว่า การใช้อำนาจไม่ว่าจะกี่ขยักหรือจะวกกลับมาใช้อำนาจมาตรา 44 จะถือว่าเป็นความชอบธรรม เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบ

การตีมึนของมีชัยที่บอกว่าไม่เข้าใจและต้องขอหารือกับ วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายประจำรัฐบาลก่อนนั้น เป็นการเล่นละครที่ไม่เนียนเอาเสียเลย ใครก็รู้ทั้งคู่เป็นเนติบริกรที่อยู่ร่วมคณะกับคสช.มาตั้งแต่ต้น จะไม่รู้ข้อมูลภายในโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายเชียวหรือ ดังนั้น การทำมาเป็นไขสือมีแต่เด็กอมมือเท่านั้นที่จะเชื่อ หรือบางทีอาจจะรู้ทันเสียด้วยซ้ำไป

คงอย่างที่ จาตุรนต์ ฉายแสง บอกไว้ ความจริงมีชัยเคยมีประสบการณ์โดยตรงและมีส่วนร่วมโดยตรงกับการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ขยักมาก่อนแล้ว ฉะนั้นท่าทีที่แสดงออกจึงเป็นการไขสือไปก่อน ถ้าไม่มีเสียงคัดค้านมาก เกรงว่าจะเป็นการสมยอมกันเพราะเป็นเจตนาร่วมกันอยู่แล้ว และเรื่องนี้สมควรอย่างยิ่ง ที่จะเปิดรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง เพียงแต่ว่าเวลานี้รัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมและยังหาทางสกัดกั้นความเห็นต่าง และพยายามทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติให้ได้ต่อไป

ไม่เพียงเท่านั้น เดอะอ๋อยยังมองว่า การแสดงออกเช่นนี้เป็นการทำให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้มีอำนาจว่าต้องการปกครองประเทศแบบเผด็จการยาวนานต่อไปอย่างไม่เคยมีมาก่อน และถ้าหากว่าสังคมไม่รู้เท่าทันคนเหล่านี้ก็จะร่วมมือกันทำให้ข้อเสนอเหล่านี้เป็นผลจริงๆได้ แต่ความเห็นที่น่าสนใจจริงๆของจาตุรนต์น่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับการห่วงเรื่องความขัดแย้งจะกลับมาของผู้มีอำนาจมากกว่า

โดยอดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยเห็นด้วยที่ว่า ความขัดแย้งจะกลับมามันก็เป็นความจริงอยู่เหมือนกัน เพราะตั้งแต่ยึดอำนาจมาจนถึงวันนี้ผู้มีอำนาจยังไม่ทบทวนปัญหาในอดีตและยังไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในอดีต มีแต่การซ้ำเติมปัญหา เช่น คสช.ทำให้เกิดคู่ขัดแย้งเพิ่มขึ้น โดยคสช.เข้าไปเป็นฝ่ายหนึ่งของความขัดแย้ง ไม่มีความพยามยามที่จะเริ่มต้นกระบวนการปรองดอง

สิ่งที่สำคัญคือ จะทำให้ผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ และรัฐธรรมนูญนี้ก็แก้ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะเป็นตัวบ่มเพาะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทางออกจึงไม่ใช่การคงอำนาจพิเศษไว้ เพราะมีแต่จะเป็นตัวสร้างปัญหา แต่ต้องคลายอำนาจคืนให้ประชาชนแล้วทบทวนปัญหาในอดีต

ด้วยตรรกะเช่นนี้ ประเด็นคำถามที่หลุดมาจากปากของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งนั่นก็คือ หากรัฐธรรมนูญผ่านยังคงจะให้คสช.มีอำนาจต่อไปหรือไม่ และถ้าไม่ผ่านประชามติควรจะให้มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใด แต่ทั้งสองคำถามนั้นเมื่อไปฟังคำตอบของผู้มีอำนาจก็น่าจะไม่ต้องค้นหาคำตอบ

กล่าวคือ อำนาจตามมาตรา 44 ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ยังคงอยู่ต่อไปแม้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่จะผ่านประชามติและมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม อันเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายแสดงความกังขาว่านักกฎหมายใหญ่อย่างมีชัยทำไมถึงได้ตะแบงเก่งขนาดนี้ ส่วนถ้าไม่ผ่านประชามติเรื่องที่จะไปหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับใดมาปัดฝุ่นนั้นคงยาก

อ่านจากสัญญาณที่ส่งกันมาก่อนหน้าของวิษณุ ถ้าแพ้ไม่เกินล้านเสียงจะนำเอาฉบับร่างของมีชัยนั่นแหละมาปรับแก้ ในแง่ของความถูกต้องชอบธรรมนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะการกำหนดระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยไม่อินังขังขอบว่าเสียงของผู้ชนะจะมีความหมายหรือไม่อย่างไร ย่อมเป็นภาพสะท้อนมุมคิดเรื่องประชาธิปไตยของคณะยึดอำนาจและบรรดาลิ่วล้อได้เป็นอย่างดี

ตกลงจะฟังใครดี พลเอกอุดมเดช สีตบุตร บอกผู้ใหญ่สตง.บอกว่าสอบปมก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์แล้วโปร่งใสทุกขั้นตอน พอนักข่าวไปถาม พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ในฐานะประธานศอตช.ที่ต้องดูแลหน่วยงานตรวจสอบการทุจริตทุกองค์กรบอกยังไม่ได้รับรายงาน ไล่ให้ไปถามคนสัมภาษณ์ว่ามีข้อมูลจากผู้ใหญ่คนไหนอย่างไร

ถ้าจับอาการของท่านรัฐมนตรีช่วยกลาโหมแล้วรู้สึกแปลกแปร่งยังไงชอบกล ผนวกกับคำเตือนที่ว่าป.ป.ท.ไม่น่าจะต้องตรวจสอบต่อเพราะทั้งกองทัพบก กระทรวงกลาโหมและสตง.ยืนยันว่าโปร่งใสแล้ว ก็ไม่น่าจะมีอะไร ไม่รู้ว่าท่านไม่ได้ฟังการแถลงข่าวหรือฟังแล้วแต่ไม่เข้าใจ สองหน่วยงานแรกซึ่งท่านเคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาและเป็นผู้บังคับบัญชาในปัจจุบัน ยืนยันว่าไม่ได้ตรวจสอบเรื่องทุจริต แล้วจะนำมายืนยันให้คนเขาตั้งข้อกังขาทำไม

ในยุครัฐบาลชุดปราบโกงไม่ควรที่จะรีบร้อนหรือด่วนสรุปใดๆ เช่นเดียวกันกับกรณีค่าหัวคิวขุดลอกคลองขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกที่พบว่า มีการจ่ายเงินทอนกันหลายทอด ล่าสุดมีรายงานว่าผู้รับเหมาในบางจังหวัดเริ่มทิ้งงานกันแล้ว เนื่องจากแบกรับภาระไม่ไหว มันจะทำกันได้ยังไง ราคาโครงการ 2 ล้านรับงานมาแค่ล้านเดียว ส่วนต่างมันหายไปไหน อย่าบอกเหมือนกรณีไมค์ทองคำว่าไม่ได้ทุจริตแต่ส่วนต่างมันเยอะอีกนะ ประชาชนเขาไม่ได้กินหญ้า

Back to top button