IMF เตือนศก.โลกอาจไม่ฟื้นตัวตามคาด ชี้ควรมีนโยบายรับมืออย่างเร่งด่วน
IMF เตือนศก.โลกอาจไม่ฟื้นตัวตามคาด ชี้ควรมีนโยบายรับมืออย่างเร่งด่วน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกรายงานเตือนว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการใช้นโยบายส่งเสริมการเติบโตและรับมือกับความเสี่ยงอย่างเร่งด่วน
IMF ได้เปิดเผยรายงานในหัวข้อ “Note on Global Prospects and Policy Challenges” ก่อนที่รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจากกลุ่มประเทศ G20 จะเข้าร่วมการประชุมเป็นเวลา 2 วันที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ในวันศุกร์นี้
เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.4% ในปีนี้ และ 3.6% ในปีหน้า ซึ่งลดลง 0.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนต.ค.ปีที่แล้วสำหรับทั้งสองปี
IMF ระบุว่า เมื่อพิจารณาถึงการฟื้นตัวที่อ่อนแรงลงและความปั่นป่วนในตลาดการเงินแล้ว เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านลบ
ความปั่นป่วนในตลาดการเงินไม่เพียงแต่จะส่งผลให้ภาวะทางการเงินในประเทศพัฒนาแล้วเกิดความตึงตัวและบั่นทอนการเติบโตเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ และทำให้ภาวะการเงินในประเทศเหล่านี้ตึงตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้สกุลเงินอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องและเป็นอุปสรรคต่อการระดมทุน
ส่วนการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันนั้น อาจส่งผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อและสร้างความเสียหายต่อผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ และการที่อุปสงค์ของประเทศนำเข้าน้ำมันปรับตัวขึ้นน้อยกว่าการคาดการณ์แม้ว่าราคาน้ำมันได้ปรับตัวลดลงอย่างมากนั้น ก็ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับสถานการณ์ตึงเครียดทางภูมิศาสตร์การเมืองนั้น ก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้
รายงานของ IMF ยังระบุด้วยว่า การที่จีนเริ่มปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยเน้นรูปแบบการเติบโตที่มีความสมดุลมากขึ้นนั้น อาจจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกมีการเติบโตอย่างสมดุลและช่วยลดความเสี่ยง โดย IMF แนะนำว่า ประชาคมโลกควรสนับสนุนความพยายามของจีนในการปฏิรูปและปรับสมดุลเศรษฐกิจภายในประเทศ
ทั้งนี้ IMF ได้เรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วยังคงเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป แต่ก็ไม่ควรพึ่งพานโยบายการเงินมากเกินไป พร้อมกับเรียกร้องให้ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้าง ยกระดับการควบคุมดูแลและขอบข่ายระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการกับความเสี่ยงในภาคธุรกิจและภาคธนาคาร