อยู่ให้นานอย่างไรขี่พายุ ทะลุฟ้า

ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณเผยถึงสาเหตุการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่เขาเองเป็นผู้ยกร่างว่า “เขาอยากอยู่นาน” ทำให้เกิดความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานี้ได้อย่างชัดแจ้งยิ่งขึ้น


ชาญชัย สงวนวงศ์

 

ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณเผยถึงสาเหตุการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่เขาเองเป็นผู้ยกร่างว่า “เขาอยากอยู่นาน” ทำให้เกิดความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานี้ได้อย่างชัดแจ้งยิ่งขึ้น

ยิ่งชัดเจนเข้าไปใหญ่ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เฉลยปริศนารัฐธรรมนูญ 2 ขยักว่า ต้องการให้มีระยะเปลี่ยนผ่านเป็นเวลา 5 ปี โดยทหารเป็นผู้คุมเกมการเมือง

มันก็ชัดเจนล่ะนะครับว่า เขาต้องการอยู่นาน อย่างน้อยก็นับจากนี้ไปอีก 5 ปี แต่จะอยู่อย่างไรนี่สิ เป็นเรื่องน่าคิดมากกว่า

อยู่แล้วคนรัก หรืออยู่แล้วคนชัง มันออกได้ทั้ง 2 หน้าแหละ

อยู่แล้ว แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ การทำมาหากินของประชาชนฝืดเคือง นับเป็นเรื่องอันตราย!!!

ผ่านมาแล้ว 21 เดือน ก็ต้องเรียนตามตรงว่า มีความน่าเป็นห่วงทั้งในระดับความเข้าใจแห่งตัวปัญหา และความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ

อันที่จริงก็มีผู้มากความรู้ความสามารถ พร้อมเสนอตัวเข้าไปช่วยทำงานอยู่ไม่น้อย แต่ไม่รู้เป็นอะไรสิน่า กลับปรากฏ ”ยอดฝีมือ” จำนวนน้อยอย่างน่าใจหาย

งานลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศโดยเฉพาะระบบราง มันก็พายเรือในอ่างอยู่นั่นแหละ เดี๋ยวเป็นปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ย เดี๋ยวเป็นปัญหาเกี่ยงงอนเรื่องการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน

ดูแล้วก็คงไม่ได้สร้างหรอก

จากรถไฟความเร็วสูงเมื่อเริ่มต้น กลายมาเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง และตอนนี้ก็แปลงรูปแปลงร่างไปเป็นรถไฟความเร็วปานกลางแบบลูกผสมรางเดี่ยวไปเสียแล้ว

ปัญหาวิกฤตภัยแล้งนี่ต้องถือว่า นับแต่ยึดอำนาจกันมา ไม่มีการขยับจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำแต่อย่างใดเลย

โครงการรัฐบาลเก่า 3.5 แสนล้านบาท บอกไม่ทำ จะทำเฉพาะโครงการขนาดเล็ก ก็คงไม่มีอะไรมาต่อว่ากัน แต่นี่ใหญ่ก็ไม่เอา เล็กก็ไม่ทำ

ถ้าได้ลงมือทำเสียบ้าง ก็คงจะไม่เจอวิกฤตภัยแล้งหนักซะขนาดนี้ แล้วปีหน้า ที่ยังไม่รู้ว่าจะเจอน้ำท่วมหรือน้ำแล้งอีกล่ะ พอจะมีอะไรขยับขยายไปรับมือบ้างแล้วหรือยัง

ผมอ่านมาตรการเยียวยาผลกระทบภัยแล้งที่ ครม.เพิ่งอนุมัติในวงเงิน 9.3 หมื่นล้านบาทแล้ว ก็ยังสงสัยในเรื่องของปัญหาทางปฏิบัติว่าจะอนุมัติเบิกจ่ายกันอย่างไร และจะมีเม็ดเงินไหลออกไปเยียวยาได้สักกี่มากน้อยกัน

มาตรการแรก ให้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ฉุกเฉินลูกค้าที่ประสบปัญหาภัยแล้งรายละ 12,000 บาท จำนวน 5 แสนรายในวง

เงิน 6,000 ล้านบาท

อันนี้ก็ดูไม่มีความซับซ้อนอะไรมาก แต่ถ้าเกษตรกรรายใดมีหนี้เก่าอยู่ล่ะ จะทำอย่างไร จะขัดกับระเบียบการปล่อยกู้ของ ธ.ก.ส.ไหม หรือจะเป็นการกู้เอาไปใช้หนี้เก่าก่อน เหลือส่วนต่างเท่าไหร่จึงจะตกถึงมือเกษตรกร

มาตรการที่ 2 เป็นการปล่อยกู้ให้กับ SME ภาคการเกษตร หรือที่เรียกว่าโครงการ1ตำบล 1 SME เกษตร วงเงินสูงตั้ง 72,000 ล้านบาทแน่ะ

แต่เกษตรกรจะต้องรวมกลุ่มกันในชุมชน เพื่อสร้าง SME ของตำบล ปัญหาว่าเกษตรกรจะคิดโครงการแบบไหน ถึงจะเป็นที่ต้องการของตลาด และเป็นสินค้าที่ขายได้ เพื่อไม่ให้มีหนี้เสียเกิดขึ้น

มาตรการที่ 3 โครงการปรับเปลี่ยนการผลิตพืชที่ไม่เหมาะสมของเกษตรกรในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะเข้าไปปล่อยสินเชื่อให้กับชุมชนรายละไม่เกิน 3 ล้านบาท

อันนี้ก็อีกเช่นกันว่า จะเปลี่ยนชนิดพืชเพาะปลูกชนิดใดดีถึงขายได้และไม่ถูกกดราคา

นอกจากนี้ ถ้าจะให้กู้ยืมกันจริงๆ ทำไมจะต้องให้กู้ยืมในรูปแบบของชุมชนด้วย ทำไมไม่ให้เป็นรายบุคคล ซึ่งน่าจะมีความสอดคล้องเหมาะสมกว่า

ผมชักไม่แน่ใจว่า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ทยอยออกมาเรื่อยๆ เนี่ย จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรแท้จริงได้มากน้อยแค่ไหน

หรือว่ากางตำราคิดกันออกมาอย่างเดียว สัมฤทธิผลอาจไม่เกิดขึ้นมากมายนัก ขอแต่ให้มี “มูฟเมนต์” หรือการเคลื่อนไหวออกมาเป็นระยะๆ เพื่อให้ดูว่ามีผลงานแก้ปัญหามากมายเท่านั้น

ถ้าท่านผู้มีอำนาจคิดจะอยู่นาน ก็ไม่ใช่ปัญหาหรอก แต่จะอยู่กันแบบไหนนี่สิ สำคัญกว่า

Back to top button