พาราสาวะถี อรชุน

อยู่ภายใน “สังคมคนดี” ปกครองประเทศย่อมเป็นเช่นนี้ เวลานี้มี 2 กรณีที่คนคงตั้งคำถามไปยังรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานที่ดี เป็นแบบอย่างไม่ให้ “นักการเมืองเลว” ใช้เป็นข้ออ้างในอนาคต กรณีแรกเป็นเรื่องของ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมายเขียนจดหมายด้วยลายมือตัวเองส่งไปให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อพิจารณาพักโทษผู้ต้องขังรายหนึ่ง


อยู่ภายใน “สังคมคนดี” ปกครองประเทศย่อมเป็นเช่นนี้ เวลานี้มี 2 กรณีที่คนคงตั้งคำถามไปยังรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานที่ดี เป็นแบบอย่างไม่ให้ “นักการเมืองเลว” ใช้เป็นข้ออ้างในอนาคต กรณีแรกเป็นเรื่องของ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมายเขียนจดหมายด้วยลายมือตัวเองส่งไปให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อพิจารณาพักโทษผู้ต้องขังรายหนึ่ง

โดยเนติบริกรประจำรัฐบาลอ้างว่า ญาติผู้ต้องขังคนดังกล่าวเดินทางมาพบตนเอง แล้วขอให้ช่วยพักโทษผู้ต้องขังรายนั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมกล้วยไม้  จึงสอบถามไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่าเข้าเงื่อนไขให้สามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งได้คำตอบว่า การจะพักโทษผู้ต้องขังได้ บุคคลดังกล่าวต้องผ่านการรับโทษมาแล้วกึ่งหนึ่ง และเป็นนักโทษชั้นดีเยี่ยม ซึ่งผู้ต้องขังรายนั้นเข้าข่าย

จึงทำหนังสือและทำจดหมายเกษียณแนบท้าย ให้ญาตินำไปยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมยืนยันว่าไม่เคยรู้จักกับผู้ต้องขังคนดังกล่าว และไม่เคยรับประโยชน์ใดๆ มาก่อน ทุกอย่างทำอย่างเปิดเผย มีระเบียบรองรับตามกฎหมาย จึงไม่ใช่เป็นการทำจดหมายน้อยแต่อย่างใด เพราะข้อความที่นำมาเผยแพร่ถูกตัดมาเพียงเล็กน้อย

ฟังในมุมกฎหมายแล้วไม่เห็นมีอะไรเป็นปัญหา แต่ถ้ามองในมิติของการบริหารราชการแผ่นดินที่ดี ถามว่ามีเหตุจำเป็นอันใดที่รองนายกรัฐมนตรีจะต้องให้ผู้ที่มาร้องขอความช่วยเหลือ ถือหนังสือที่เขียนโดยลายมือของตัวเองไปยื่นต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์โดยตรง หากยึดตามระเบียบขั้นตอนอย่างเคร่งครัดแล้ว คนอย่างวิษณุย่อมรู้ดีในข้อปฏิบัติ

ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม หากจะให้ทุกอย่างสวยงามเป็นไปตามระบบ เรื่องนี้ควรจะถูกส่งไปให้ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อสั่งการไปตามขั้นตอนให้ปลัดกระทรวงดำเนินการต่อไปจนถึงระดับอธิบดี แต่นี่เท่ากับว่าเป็นการสั่งตรงจากรองนายกฯไปถึงอธิบดีทันที ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

เมื่อนำมาเทียบเคียงกับกรณีของอดีตประธานศาลปกครองสูงสุด หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ที่มีเรื่องจดหมายน้อยไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อฝากให้พิจารณาความดีความชอบแก่นายตำรวจรายหนึ่ง จนคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง จึงมีคำถามว่า การกระทำของวิษณุนั้นเข้าข่ายเดียวกันหรือไม่

แต่ในฐานะคนดีและยังเป็นมือกฎหมายชั้นเซียนคงจะมีวิธีการหรือหาหนทางมาเอ่ยอ้างเพื่อให้สังคมคล้อยตามว่าไม่ผิดได้ไม่ยาก เช่นเดียวกันหากมีคนไปถาม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คงจะได้เห็นอาการหงุดหงิดแทนคำตอบ ถ้าจะให้เขียนข่าวรอก็คงจะมีคำพูดประมาณว่า มันผิดมันเลวกว่าพวกนักการเมืองโกงนักการเมืองชั่วตรงไหน

สรุปคือ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับคนดีและไม่ต้องถามหาความรับผิดชอบใดๆ ส่วนอีกเรื่องเป็นกรณีที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่า มีทหารยศพลเรือเอกรายหนึ่งแชทข้อความผ่านไลน์แอพพลิเคชั่น อ้างถึงนายทหารยศพลเอกรายหนึ่งซื้อขายตำแหน่งข้าราชการตำรวจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีการยืนยันว่า นายทหารเรือคนดังว่านั้นก็คือ พลเรือเอกพะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและอดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ

หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือปอท.จึงได้ออกหมายเรียกให้นายทหารอดีตคนใกล้ชิดพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รายนี้ไปพบในวันที่ 10 มีนาคมนี้ในฐานความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ โดยที่ยังไม่มีการกล่าวหาว่าหมิ่นสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ ทั้งๆ ที่ฝ่ายสีกากีหลายรายมองว่านั่นเป็นข้อความที่ทำให้องค์กรตำรวจเกิดความเสื่อมเสีย

คงขึ้นอยู่กับ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่าจะมองการกล่าวหาดังกล่าวกระทบต่อเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของแวดวงสีกากีหรือเปล่า ขณะเดียวกันอีกด้านก็จะมีการนำไปเปรียบเทียบถึงการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์รายอื่นๆ ก่อนหน้านี้

ถ้าจำกันได้ผู้ต้องหารายอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในลักษณะดังกล่าว หลายรายยืนยันว่าไม่ได้เป็นต้นตอของข้อความที่นำไปส่งต่อ แต่เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินคดีพร้อมจับกุมคุมขัง ขณะที่กรณีนี้ผู้ถูกกล่าวหาก็อ้างเช่นเดียวกันว่า ไม่ได้เป็นคนเขียนข้อความในไลน์ แต่ไลน์ต้นฉบับมีคนส่งมาให้อีกที ในฐานะที่เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหน้าที่และกระบวนการทำงานตำรวจเพื่อประโยชน์ของประชาชนและคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงส่งต่อไลน์ไปให้ 2 กลุ่ม

นั่นก็คือ กลุ่มไลน์เตรียมทหารรุ่น 12 และไลน์กลุ่มตำรวจ เพื่อให้ช่วยกันตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ได้เอ่ยชื่อหรือกล่าวพาดพิงไปถึงพลเอกป.ตามที่เข้าใจกัน ที่น่าสนใจต่อการอ้างดังกล่าวคือ กลุ่มไลน์เตรียมทหารรุ่นที่ 12 นั้นมีบิ๊กตู่ผู้ยิ่งใหญ่เวลานี้เป็นเพื่อนร่วมรุ่นด้วย โดยพะจุณณ์อ้างว่า เป็นการกระจายข่าวเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบถึงนายกรัฐมนตรี

งานนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่า ตำรวจที่ตีความเรื่องความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาโดยเคร่งครัดตลอด จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร และเห็นว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ขององค์กรหรือไม่ การถูกกล่าวหาว่าวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งในวงการสีกากีนั้นมีมาทุกยุคทุกสมัย ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนปูดข้อมูล แต่รอบนี้คนระดับพลเรือเอกเปิดมาอย่างนี้ ถ้าไม่มีมูลก็ต้องเอาผิดกับคนที่กล่าวหา แต่ถ้าใช่ก็ต้องสืบสาวราวเรื่องต่อไปว่าใครหน้าไหนที่กล้ากระทำในยุครัฐบาลที่ต้องไร้การโกงทุกชนิดเช่นนี้

เห็นข่าวสารที่เกิดขึ้นแล้ว หลายคนคงอดสงสารท่านผู้นำที่แบกทุกข์อยู่คนเดียวไม่ได้ ปัญหาที่มีอยู่ก่อนหน้าสารพัดสารพันยังแก้ไม่ตก ก็มีเรื่องใหม่และดูท่ากระแสสังคมจะตอบรับเสียด้วยเกิดขึ้นมาอีก คงเชื่อไปนานแล้วว่าบริหารประเทศนั้นมันไม่ง่ายอย่างที่คิด สิ่งสำคัญอีกประการก็คือ แม้จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ใช่ว่าจะเป็นยาวิเศษแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง เพราะบางอย่างมันเป็นเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม หาใช่การใช้อำนาจบาตรใหญ่ไม่

Back to top button