แผลที่ถูกเปิดพลวัต 2016

ผลการประชุมประเทศ G-20 ในเซี่ยงไฮ้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้นักลงทุนพากันผิดหวังไปตามๆกันเพราะพูดกันแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆและนามธรรมโดยไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะมีวาระสำหรับโลกอ่างไรบ้างที่เกินไปกว่าการแสดงภาษาการทูตที่ไพเราะ


วิษณุ โชลิตกุล

 

ผลการประชุมประเทศ G-20 ในเซี่ยงไฮ้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้นักลงทุนพากันผิดหวังไปตามๆกันเพราะพูดกันแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆและนามธรรมโดยไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะมีวาระสำหรับโลกอ่างไรบ้างที่เกินไปกว่าการแสดงภาษาการทูตที่ไพเราะ

รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางที่เข้าร่วมประชุมให้คำมั่นว่าจะใช้เครื่องมือนโยบายทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการเงิน การคลังและเชิงโครงสร้างทั้งใช้แยกกันและใช้ร่วมกันเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพของตลาดและกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังคงซบเซาและไม่กระจายตัว  

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีข้อสรุปที่ให้ภาพน่าหดหู่ในเรื่องความเสี่ยงขาลงและความเปราะบางต่างๆได้เพิ่มขึ้นจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผันผวนและราคาโภคภัณฑ์ที่ร่วงลงอย่างหนักตลอดจนความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นความเป็นไปได้ที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและจำนวนผู้อพยพที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในบางภูมิภาค

แม้ว่าดัชนีทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เปิดเผยวานนี้ระบุว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมกราคมปรับตัวขึ้น 3.7% จากเดือนก่อนหน้าแต่ก็ถูกกลบด้วยข่าวร้ายจากตัวเลขการใช้จ่ายของ(บริโภคเดือนมกราคมที่ลดลงสวนทางกันทำให้ดัชนีนิกเกอิที่เดบวกมากกว่า 200 จุดเมื่อวานนี้ปิดลบมากกว่า 160 จุด ผันผวนรุนแรง

ยิ่งกว่านั้น ความผิดหวังจากการประชุม G-20 ยังระบาดไปยังตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้เมื่อนักลงทุนหาเหตุว่าผิดหวังที่ทางการจีนไม่ได้ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม G-20 ทำให้มีแรงขายออกมาดันดัชนีติดลบไป 2.46% หรือ 79 จุดเศษ โดยไม่สนใจกับข่าวดีที่ว่าจีนมีตำแหน่งงานใหม่ในเขตเมืองเพิ่มขึ้นมากกว่า 13 ล้านตำแหน่งต่อปีมานับตั้งแต่ปี 2556 ถึงแม้ว่าตัวเลขในปี 2558 จะลดลง 0.8% จากปีก่อนหน้า

แรงกดดันจากความผิดหวังดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางจีนมีมติหลังตลาดหุ้นปิดไปแล้วลดสัดส่วนการกันสำรอง (RRR) ลง 0.5% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคมนี้แต่ก็ยังมีคำถามว่าจะช่วยตลาดหุ้นจีนได้กี่มากน้อย

ตลาดหุ้นยุโรปเป็นอีกตลาดที่ดูดซับความผิดหวังจากเอเชียเข้าไปเต็มที่โดยเปิดตลาดในแดนลบและอยู่ในแดนลบเป็นส่วนใหญ่ด้วยเหตุผลเดียวกันคือนักลงทุนพากันผิดหวังกับผลการประชุม G20 ที่ปิดฉากลงโดยไร้ซึ่งมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวและตลาดการเงินทั่วโลกผันผวนอย่างมาก

ไม่เพียงเท่านั้นสัญญาณล่วงหน้าจากตลาดหุ้นนิวยอร์กก็ส่งสัญญาณแรงเช่นกันว่าได้เวลาของการร่วงลงของดัชนีแล้วหลังจากที่ขึ้นมาสู่เขตซื้อมากเกินไปตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันและเติมด้วยราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง

สำหรับตลาดหุ้นไทยยามนี้ที่อยู่ในเขตซื้อมากเกินไปที่ระดับเหนือ 1,340 จุดทำให้มีแรงซื้อที่น้อยลงในช่วงเช้าวานนี้เปลี่ยนกลับเป็นแรงเทขายในท้ายตลาดหนักหน่วง ดัชนีปิดลบไปกว่า 10 จุดด้วยสาเหตุที่มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณทางลบที่ส่อเค้ารุนแรงจากปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้นทำให้การขึ้นของดัชนีมีแรงกดดันที่เข้าข้นมากกว่าเดิม

คำแถลงของ ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท. ว่าจะมีการปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยใหม่ในช่วงเดือนนี้จากเดิมคาดการณ์ขยายตัวปีนี้ที่ 3.5% และประมาณการส่งออกจากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 0% ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจหลังจากแรงส่งเศรษฐกิจแผ่วลงโดยเฉพาะภาคบริโภคชะลอตัวและการส่งออกยังหดตัวลงมากส่วนการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

กองทุนเก้งกำไรต่างชาติในฮ่องกงและสิงคโปร์มีความเห็นคล้ายกันว่ากนง.ไทยมีทางเลือกน้อยลงที่จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพราะภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนมกราคมที่ปรากฏตัวเลขมูลค่าการส่งออกยังติดลบ 9.3% ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้า 17.8% ซึ่งหากต้องการให้การส่งออกขยายตัวได้ 0.0% ตามประมาณการการส่งออกจะต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน

ตัวเลขของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนมกราคมที่สะท้อนสภาวะหยุดนิ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในหลายๆด้าน สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นภาคเอกชนซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2559 อาจกำลังหมุนช้าลงเช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมที่มีความเปราะบางมากขึ้นของเศรษฐกิจในหลายๆภูมิภาคของโลก

สิ่งที่น่าสนใจและติดตามลุ้นกันอย่างมากคือผลลัพธ์ของมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนจากปัจจัยหนุนชั่วคราว (ทั้งการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่) ที่เริ่มจะหมดเวลาลงทำให้การใช้จ่ายสินค้าคงทนและกึ่งคงทนกลับมาหดตัวลงในไตรมาส 2ของปี

แรงกดดันทางลบต่อเศรษฐกิจมวลรวมทำให้มีคำถามเกี่ยวกับความสามารถทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นความเปราะบางของกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นและแรงกดดันจากขีดจำกัดของเศรษฐกิจทำให้ยากที่จะปลดปล่อยให้ราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนเป็นขาขึ้นได้ง่ายๆและไม่แปลกที่เมื่อเข้าเขตซื้อมากเกินไปก็พร้อมที่จะร่วงลงแรง

คำถามเฉพาะหน้ายามนี้เมื่อดัชนีตลาดหุ้นำไทยร่วงวันแรกของรอบนี้เมื่อวานคือ การร่วงลงจนพ้นเขตซื้อมากเกินไปจะมีแนวรับตรงจุดไกหนเพ่อให้เกิดการซื้อครั้งต่อไป

คำตอบมี 2 ส่วนด้วยกันคือ หากคิดจากพื้นฐานของราคาหุ้นหากว่าพี/อีของหุ้นต่ำลงมามากพอที่จะทำให้เดการซื้อระลอกใหม่ก็นั่นแหละเวลาของการซื้อ

ในกรณีของการคิดจากเทคนิคอย่างเดียวช่วงเวลาสำหรับเหมาะกับการซื้อมากที่สุดคือช่วงที่ราคาหุ้นเข้ามาสู่เขตขายมากเกินไปซึ่งสัญญาณกราฟและสถิติต่างๆ ทางเทคนิคเช่น SSTO หรือ MACD หรือ Bollinger Band หรือ RSI ล้วนจะมีส่วนช่วยให้จังหวะของการเข้าซื้อและขายมีความสะดวกมากขึ้นนอกเหนือจากค่า พี/อี

ยามใดก็ตามที่ราคาหุ้นขึ้นแรงต่อเนื่องหลายวันแต่ยังไม่ภาวะกระทิงจริงบาดแผลและข้อบกพร่องของราคาหุ้นจะถูกซ่อนเอาไว้แต่ยามใดที่หุ้นกลับทิศเป็นการร่วงลงก็เปรียบได้กับการเปิดปากแผลออกเพื่อทายาหรือชำระล้างกัน แน่นอนว่าต้องมีการเจ็บปวดหรือแสบเกิดขึ้นทุกครั้ง

ยามนี้ก็ไม่ต่างกัน

Back to top button